ชุมเห็ดไทยเป็นไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่ม สูง ๐.๓-๑.๒ ม. ทุกส่วนมีกลิ่นเหม็นเขียว เกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย
ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ แกนกลางยาว ๒-๕ ซม. ด้านบนเป็นร่อง ที่แกนกลางใบประกอบระหว่างใบย่อย ๒ คู่ล่าง มีต่อม ๒ ต่อม รูปลิ่มแคบ ยาวประมาณ ๒ มม. ก้านใบประกอบยาว ๑-๔ ซม. มีใบย่อย ๖ ใบ เรียงตรงข้าม คู่ล่างเล็กกว่าคู่ถัดไปตามลำดับ ใบย่อยรูปไข่กลับหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๓-๒.๕ ซม. ยาว ๒-๕ ซม. ปลายมน โคนมนหรือเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบ
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง มี ๑-๓ ดอก เส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ ๑.๘ ซม. ก้านดอกยาว ๐.๔-๑ ซม. และขยายยาวขึ้นเมื่อเป็นฝัก ใบประดับเรียวแหลม ยาว ๒-๔ มม. ร่วงง่าย กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน รูปไข่กว้าง ๒-๔ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายแหลมกลีบดอก ๕ กลีบ สีเหลือง ขนาดไม่เท่ากัน รูปไข่กลับ กว้าง ๓-๖ มม. ยาว ๐.๘-๑.๕ ซม. ปลายมน
ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว เป็นฝักกลมยาวหรือรูปเคียว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๕ มม. ยาว ๑๐-๒๐ ซม. เมื่ออ่อนฝักโค้ง มีขนละเอียด ก้านฝักยาว ๑-๑.๕ ซม. เมล็ดแบน สีน้ำตาลเป็นมันรูปทรงสี่เหลี่ยม มี ๒๐-๓๐ เมล็ด
ชุมเห็ดไทยเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นตามที่รกร้าง ที่ชุ่มชื้น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๘๐๐ ม. เป็นวัชพืชในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนทั่วไป ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี
ประโยชน์ ทั้งต้นมีสารประกอบทางเคมีที่สำคัญ เป็นไกลโคไซด์ประเภทแอนทราควิโนน