จูดกระจุกเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นขึ้นรวมกันเป็นกระจุกแน่น แต่ละต้นเป็นเหลี่ยม เรียวเล็ก สีเขียวกว้าง ๐.๗-๑.๒ มม. สูง ๘-๒๕ ซม. ปลายเรียวแหลม
ใบลดรูปเป็นกาบใบ สีแดงถึงสีน้ำตาลแกมแดงเรียงเวียน ลักษณะเป็นปลอกหุ้มโคนต้น บางเป็นเยื่อยาว ๓-๘ ซม. ปลายตัด มีติ่งหนาม
ช่อดอกแบบช่อเชิงลด มีช่อดอกย่อยช่อเดียวออกตามปลายลำต้น รูปขอบขนานแกมรูปไข่ถึงรูปไข่กว้าง ๒.๕-๓ มม. ยาว ๐.๖-๑.๑ ซม. ปลายค่อนข้างแหลม บางครั้งตรงโคนอาจแตกแขนงเล็กและเรียว ๑-๓ แขนง ช่อดอกย่อยประกอบด้วยกาบจำนวนมากเรียงเวียนซ้อนเหลื่อมและอัดแน่นตรงโคน บางเป็นเยื่อสีน้ำตาลแกมแดง รูปไข่ กว้าง ๐.๗-๐.๙ มม. ยาว ๒-๒.๕ มม. ปลายมน สันกลางสีเขียว ขอบใส แต่ละกาบมีดอก ๑ ดอก กลีบรวม ๖ กลีบ ลดรูปเป็นเส้น สีน้ำตาลยาวประมาณ ๑ มม. หรือมากกว่า เกสรเพศผู้ ๒ เกสร พบน้อยที่มี ๓ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูยาว ๐.๓-๐.๕ มม. สีเหลือง แตกตามยาว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ แฉก โคนก้านยอดเกสรเพศเมียรูปกรวย ติดทน
ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ขนาดเล็ก สีเหลืองแกมเขียวจนถึงสีเขียว ทรงรูปไข่กลับ แบนด้านข้าง ตรงกลางนูน กว้าง ๐.๕-๐.๖ มม. ยาว ๐.๘-๑.๒ มม. ผิวเป็นมัน เมล็ดรูปคล้ายผล
จูดกระจุกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบในนาข้าว บริเวณที่โล่ง มีแสงแดดจัด ที่ชื้นแฉะ แอ่งน้ำ และหนองน้ำตื้น ๆ ที่สูงจากระดับทะเล ๕๐-๒,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่เนปาล อินเดีย ศรีลังกา จีน ญี่ปุ่น และภูมิภาคมาเลเซีย.