เต่าเกียด ๑

Homalomena truncata (Schott) Hook. f.

ชื่ออื่น ๆ
บอนเขี้ยว (ชุมพร)
ไม้ล้มลุก ต้นเดี่ยวหรือขึ้นเป็นกลุ่มเล็ก มีกลิ่นหอมอ่อน ลำต้นตั้ง ต่อมาอาจทอดชูยอดหรือเลื้อย ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ รูปสามเหลี่ยมแกมรูปหัวใจ หรือรูปสามเหลี่ยมแกมรูปเงี่ยงใบหอก ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ออกตามซอกใบที่ปลายลำต้น มี ๑-๔ ช่อ กาบช่อดอกสีแดงเข้ม รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกรูปทรงกระบอก เรียวไปสู่ปลายช่อ ดอกแยกเพศร่วมช่อ ไร้กลีบรวม ช่วงบนเป็นดอกเพศผู้ สีขาวนวล ที่โคนสุดของช่วงดอกเพศผู้เป็นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ถัดลงมาเป็นช่วงดอกเพศเมีย ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด

เต่าเกียดชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุก ต้นเดี่ยวหรือขึ้นเป็นกลุ่มเล็ก สูงได้ถึง ๔๐ ซม. มีกลิ่นหอมอ่อน รูปทรงกระบอก ลำต้นตั้ง ต่อมาอาจทอดชูยอดหรือเลื้อย เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ รูปสามเหลี่ยมแกมรูปหัวใจ หรือรูปสามเหลี่ยมแกมรูปเงี่ยงใบหอก กว้าง ๔-๑๔ ซม. ยาว ๖-๒๒ ซม. ปลายเรียวแหลมเป็นติ่งยาว ๒-๓ มม. โคนตัด ตัดแกมมนกลม เว้ารูปหัวใจ หรือรูปเงี่ยงใบหอก ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีอ่อนกว่า เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๙ เส้น เรียงขนานแบบขนนก มีเส้นระหว่างเส้นแขนงใบเรียงขนานกับเส้นแขนงใบ ก้านใบยาว ๑๒-๓๒ ซม. สีเขียว สีม่วงเข้ม หรือสีแดงเข้ม สีเดียวกันในกลุ่มประชากรเดียวกัน ช่วงโคนก้านใบเป็นกาบ ยาว ๗-๙ ซม. ขอบกาบบางเป็นเยื่อ

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ออกตามซอกใบที่ปลายลำต้น มี ๑-๔ ช่อ กาบช่อดอกสีแดงเข้ม รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาว ๔-๖ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลมอ่อน ยาวประมาณ ๒ มม. กาบเปิดในระยะดอกบานเต็มที่ หลังจากนั้นกาบปิด ก้านช่อดอกสีเหมือนก้านใบ ยาว ๗-๑๑ ซม. ช่อดอกรูปทรงกระบอก เรียวไปสู่ปลายช่อ กว้าง ๕-๗ มม. ยาว ๕-๖.๕ ซม. ยาวใกล้เคียงกับกาบช่อดอก ก้านมีแต้มสีแดงเรื่อ ยาวประมาณ ๔ มม. มีดอกจำนวนมากเรียงชิดกันรอบแกนช่อ ดอกแยกเพศร่วมช่อ ไร้กลีบรวม ช่วงบนเป็นดอกเพศผู้ สีขาวนวล กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๔-๕ ซม. ดอกเพศผู้กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. เกสรเพศผู้ ๔ เกสร เชื่อมติดกัน มองทางด้านบนเป็นรูปหกเหลี่ยมแกมรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน แกนอับเรณูขยายใหญ่อยู่เหนือเกสรเพศผู้ ที่โคนสุดของช่วงดอกเพศผู้เป็นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ถัดลงมาเป็นช่วงดอกเพศเมีย กว้างประมาณ ๔ มม. ยาว ๑.๗-๒.๒ ซม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ สีเขียวอ่อน มีแต้มสีแดงอมชมพู รูปทรงกลมแกมทรงรูปไข่แป้น เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๐.๕ มม. มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียรูปคล้ายจาน เกสรเพศเมียแต่ละเกสรมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันสีขาวแทรก ๑ เกสร รูปคล้ายกระบอง ยาวเท่ากับรังไข่

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ในประเทศไทยยังไม่พบผล

 เต่าเกียดชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบตามป่าดิบที่ลุ่มต่ำ ทั้งป่าดั้งเดิมและป่ารุ่น บางครั้งพบตามเขาหินปูน ที่สูงใกล้ระดับทะเลปานกลาง ในต่างประเทศพบที่เมียนมาและคาบสมุทรมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เต่าเกียด ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Homalomena truncata (Schott) Hook. f.
ชื่อสกุล
Homalomena
คำระบุชนิด
truncata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Schott, Heinrich Wilhelm
- Hooker, Joseph Dalton
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Schott, Heinrich Wilhelm (1794-1865)
- Hooker, Joseph Dalton (1817-1911)
ชื่ออื่น ๆ
บอนเขี้ยว (ชุมพร)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย และนางสาวกนกพร ชื่นใจดี