เข็มหนู

Smitinandia micrantha (Lindl.) Holttum

ชื่ออื่น ๆ
กุหลาบดง (อุบลราชธานี)
กล้วยไม้อิงอาศัย เจริญเติบโตทางยอด ใบเรียงสลับระนาบเดียว รูปขอบขนาน ปลายใบเป็น ๒ แฉกลึกไม่เท่ากัน ปลายแฉกกลม ช่อดอกแบบช่อกระจะ ดอกสีขาวหรือชมพูอมม่วง ผลแบบผลแห้งแตกตามรอยประสาน มีเมล็ดจำนวนมาก

เข็มหนูเป็นกล้วยไม้อิงอาศัยขนาดเล็ก เจริญเติบโตทางยอด ลำต้นตั้ง สูงได้ถึง ๒๐ ซม. ปล้องยาวประมาณ ๗ มม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ อวบน้ำ รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๑๑ ซม. ปลายแยกเป็น ๒ แฉกลึกและมีขนาดไม่เท่ากัน แฉกกลม

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ยาว ๕-๑๐ ซม. ก้านช่อดอกอวบน้ำ ยาว ๕ ซม. มีดอกพร้อมกันทีละหลายช่อ ช่อหนึ่งมี ๔๐-๕๐ ดอก ทยอยบานจากโคนช่อ ดอกสีขาวหรือชมพูอมม่วง เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๖-๗ มม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๓ กลีบ ยาวประมาณ ๓ มม. ค่อนข้างกว้างแต่กลีบดอกแคบกว่ากลีบเลี้ยง กลีบปากส่วนกลางรูปขอบขนาน ปลายมน กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. อวบน้ำ ส่วนโคนปากหนาตรงส่วนที่ต่อกับเดือย หูปากทั้ง ๒ ข้างเล็ก กลม และยกตั้งขึ้น ปลายสีม่วง เดือยอวบน้ำ แนบไปกับรังไข่ เส้าเกสรสั้นและโป่ง จะงอยเล็ก กลุ่มเรณูกลม มี ๒ คู่ ติดบนเส้าเกสร ก้านกลุ่มเรณูรูปแถบ ฝาปิดกลุ่มเรณูสีนวล รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง และมีออวุลมาก

 ผลแบบผลแห้งแตกตามรอยประสาน รูปกระสวย ยาวประมาณ ๑ ซม. ก้านผลสั้น มีเมล็ดจำนวนมาก

 เข็มหนูมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบและป่าเบญจพรรณ ออกดอกระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย

 กล้วยไม้สกุลนี้ Dr. Holttum ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่ ศ. ดร.เต็ม สมิตินันทน์ ผู้เชี่ยวชาญพฤกษศาสตร์.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เข็มหนู
ชื่อวิทยาศาสตร์
Smitinandia micrantha (Lindl.) Holttum
ชื่อสกุล
Smitinandia
คำระบุชนิด
micrantha
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Lindley, John
- Holttum, Richard Eric
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Lindley, John (1799-1865)
- Holttum, Richard Eric (1895-1990)
ชื่ออื่น ๆ
กุหลาบดง (อุบลราชธานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ.จิรายุพิน จันทรประสงค์