ต้อยตั่งเป็นไม้พุ่ม สูง ๐.๕-๑.๕ ม. พบน้อยที่สูงได้ถึง ๔ ม. โคนต้นค่อนข้างแข็ง แตกกิ่งเป็นคู่ กิ่งก้านเป็นเหลี่ยม กิ่งอ่อนสีเขียว เกลี้ยง บางครั้งมีปุ่มเล็ก ๆ สีน้ำตาลแกมสีเหลือง กิ่งแก่มีเปลือกสีน้ำตาลเข้ม มีช่องอากาศสีขาว
ใบเดี่ยว มักเกิดเป็นคู่ที่จุดเดียวกันและมีขนาดไม่เท่ากัน เรียงเวียน ใบหลักรูปรีแคบถึงรูปรี หรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๔-๖ ซม. พบน้อยที่กว้างได้ถึง ๑๑ ซม. ยาว ๙-๒๒ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบเรียว ขอบเรียบและเป็นคลื่นเด่นชัด เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตรงข้ามใบหรือเหนือซอกใบ ช่อยาว ๐.๕-๖ ซม. แต่ละช่อมีดอก ๕-๓๐ ดอก ก้านช่อยาว ๐.๓-๒ ซม. ใกล้โคนช่อมักพบรอยแผลของก้านดอกที่หลุดไปแล้ว มีระยะห่างกันประมาณ ๑ มม.ก้านดอกเมื่อบานยาว ๑.๒-๒.๕ ซม. อาจโค้งงอเข้าหาแกนช่อ ดอกตูมรูปกลมถึงรูปไข่กลับ มีสันของหลอดกลีบเลี้ยง ๕ เหลี่ยม เห็นชัด ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. กลีบเลี้ยงสีเขียว โคนเชื่อมกันเป็นรูประฆัง ยาว ๑.๕-๓ มม. มีเหลี่ยมสันตามยาว ๔-๕ เหลี่ยม ปลายแยก ๔-๕ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่กว้างหรือรูปสามเหลี่ยมกว้าง ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายเป็นตุ่มเล็กหรือเป็นติ่งแหลมอ่อน กลีบเลี้ยงติดทนมักขยายใหญ่เล็กน้อยหลังดอกบาน กลีบดอกสีขาว รูปคล้ายดาว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๓-๑.๖ ซม. โคนเชื่อมกันเล็กน้อย ปลายแยก ๔-๕ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่กว้างหรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๖ มม. ยาว ๗-๘ มม. ปลายแหลมมีตุ่มเล็กหรือเป็นติ่งแหลมอ่อน กลีบแบนหรือโค้งเล็กน้อยเมื่อดอกบาน กลางกลีบโค้งนูนขึ้นเป็นสันตามแนวยาวทางด้านบนและเกิดร่องระหว่างสันขนานไปกับขอบกลีบ ขอบกลีบบางและมักเป็นคลื่น เกสรเพศผู้ ๔-๕ เกสร ก้านชูอับเรณูยาว ๐.๒-๐.๕ มม. อับเรณูรูปทรงกระบอกกว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๒-๓.๕ มม. สีเหลือง แตกเป็นช่องที่ปลาย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. เกลี้ยง มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียตรง ยาว ๖-๗ มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นพูเล็ก ๆ ๒ พู
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๗-๑.๖ ซม. ผิวเรียบ เกลี้ยง ด้านเมื่ออ่อนสีเขียว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง สุกสีส้ม ก้านผลโค้งและแข็ง รูปทรงกระบอก ปลายป่องพอง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. ยาว ๑.๙-๒.๓ ซม. เมล็ดแบนรูปไตถึงค่อนข้างกลม กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๓-๓.๕ มม. มีจำนวนมาก สีเหลืองหรือสีน้ำตาลแกมสีแดง ขอบเมล็ดหนาและสีจางกว่าตรงกลาง ผิวเป็นลายร่างแห
ต้อยตั่งมีเขตกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามไหล่เขาในป่าดิบ ป่าผลัดใบ ป่าเบญจพรรณ เขาหินปูน หรือใกล้แหล่งน้ำ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๓๐๐-๑,๙๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูฏาน บังกลาเทศ เมียนมา จีนตอนใต้ ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย
ประโยชน์ ใบอ่อน ยอดอ่อน และผล ใช้เป็นผักแพทย์จีนใช้ใบสดผสมเป็นยาพอกรักษาแผลเรื้อรัง และพอกฝีดูดหนองเรียกเนื้อ เปลือกต้นทุบแล้วแช่น้ำเย็นใช้เป็นยาแก้ไข้ รากใช้ทำยาสลบและยาขับปัสสาวะ.