ชงโคดอกเหลือง

Bauhinia tomentosa L.

ชื่ออื่น ๆ
โยทะกา, พญากาหลง (ทั่วไป)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปเกือบกลม ปลายแยกเป็น ๒ แฉก เว้าลึกลงมาหนึ่งในสามถึงครึ่งหนึ่งของความยาวแผ่นใบ หูใบรูปแถบ ช่อดอกแบบช่อกระจะสั้น ออกตรงข้ามกับใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีเหลือง ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว เป็นฝักแบน รูปแถบ เมล็ดแบน รูปทรงค่อนข้างกลมสีน้ำตาล

ชงโคดอกเหลืองเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๘ ม. ส่วนที่ยังอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลหรือเกือบเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปเกือบกลม ด้านกว้างมักกว้างกว่าด้านยาว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๘ ซม. ปลายแยกเป็น ๒ แฉก เว้าลึกลงมาหนึ่งในสามถึงครึ่งหนึ่งของความยาวแผ่นใบ ส่วนเว้ากว้าง ปลายแฉกมนกลม โคนมนกลม ตัด ถึงเว้าเล็กน้อยคล้ายรูปหัวใจขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนเกลี้ยงด้านล่างมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาล เส้นโคนใบ ๗-๙ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๑-๓ ซม. มีขนสั้นนุ่ม หูใบรูปแถบ ยาวประมาณ ๑ ซม. มีขนช่อดอกแบบช่อกระจะสั้น ออกตรงข้ามกับใบใกล้ปลายกิ่ง มีดอก ๑-๓ ดอก ใบประดับและใบประดับย่อยรูปลิ่มแคบ ยาว ๔-๗ มม. มีขนประปราย ร่วงง่าย ก้านดอกยาว ๐.๘-๑.๒ ซม. ดอกตูมรูปกระสวย ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. มีขนละเอียด ฐานดอกรูประฆัง ยาวประมาณ ๕ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ โคนเชื่อมติดกัน เมื่อบานคล้ายกาบ ยาว ๑.๕-๒.๒ ซม. ปลายแยกเป็น ๒ แฉก มีขนละเอียด กลีบดอก ๕ กลีบ สีเหลือง บางครั้งโคนกลีบบนมีแต้มสีม่วงเข้ม รูปไข่กว้างหรือค่อนข้างกลม ยาว ๔-๕ ซม. ไม่มีก้านกลีบเกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ขนาดไม่เท่ากัน ก้านชูอับเรณูยาว ๑-๒ ซม. โคนมีขนสั้นนุ่ม อับเรณูรูปแถบ ยาว ๒-๔ มม. ก้านรังไข่สั้น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนาน


มีขนสั้นหนานุ่ม มี ๑ ช่อง ออวุลประมาณ ๕ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๒-๓ ซม. ปลายเกลี้ยง โคนมีขนละเอียด ยอดเกสรเพศเมียแบบก้นปิด

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว เป็นฝักแบนรูปแถบ กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๗-๑๕ ซม. ผลอ่อนมีขนสั้นนุ่ม เมื่อแก่เกลี้ยง เมล็ดแบน รูปทรงค่อนข้างกลม สีน้ำตาล เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. มี ๕ เมล็ด

 ชงโคดอกเหลืองเป็นพรรณไม้ต่างประเทศมีถิ่นกำเนิดในเอเชียเขตร้อน นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปในเขตร้อน ออกดอกเกือบตลอดปี

 ประโยชน์ ในอินเดียใช้เปลือก ราก ดอกตูมและผลเป็นสมุนไพร เมล็ดให้น้ำมัน เนื้อไม้ละเอียดสีขาว ใช้ทำที่จับถือ หุ้มวัสดุ ทำอาวุธ ในอินโดนีเซีย กินใบเป็นผัก.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชงโคดอกเหลือง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Bauhinia tomentosa L.
ชื่อสกุล
Bauhinia
คำระบุชนิด
tomentosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
โยทะกา, พญากาหลง (ทั่วไป)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายปิยชาติ ไตรสารศรี