ขางเขาแหลมเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย กิ่งก้านเล็กเรียวเมื่ออ่อนมีขนละเอียด
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปขอบขนานแกมรูปรีกว้าง ๑-๓.๕ ซม. ยาว ๒.๕-๑๐ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มกว้างถึงมนกว้าง ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษหรือค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยง มีขนละเอียดตามเส้นกลางใบ เห็นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๔ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกันก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. มีปีกแคบ ๆ และเปราะ
ดอกแยกเพศต่างต้นหรือดอกแยกเพศต่างต้นแกมดอกสมบูรณ์เพศ ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนงออกตามซอกใบ ยาว ๑-๔ ซม. มีขนละเอียดสีน้ำตาลแดงดอกส่วนใหญ่มีเพศเดียว ไม่พบดอกเพศเมีย ก้านดอกยาว ๒-๔ มม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๑ มม. แยกเป็นแฉกลึก ๔-๕ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่ ปลายแหลม กว้างประมาณ ๐.๖ มม. ด้านนอกมีขนละเอียด ขอบมีขนครุยเล็ก ๆ และมีจุดโปร่งแสง เห็นไม่ชัด ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกสีเขียวอ่อน รูปกงล้อ โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็นแฉกลึก ๔-๕ แฉก แต่ละแฉกรูปขอบขนานแกมรูปรีกว้าง ๑-๑.๓ มม. ยาว ๓-๓.๕ มม. เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยงด้านในมีปุ่มเล็กหนาแน่น ขอบมีขนครุย มีต่อมเป็นจุดสีดำขนาดเล็ก เห็นชัดเจน เกสรเพศผู้ ๔-๕ เกสร สีขาวยาวประมาณ ๒ มม. ติดอยู่บริเวณโคนแฉกกลีบดอกก้านชูอับเรณูติดด้านหลัง อับเรณูรูปไข่ กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. แตกตามยาว เกสรเพศเมียเป็นหมันมีขนาดเล็ก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลประมาณ ๔ เม็ด
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง เมล็ด ๑ เมล็ด รูปทรงเกือบกลม
ขางเขาแหลมเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันออก พบตามป่าดิบเขาที่สูงจากระดับทะเล ๑,๐๐๐-๑,๔๐๐ ม. ออกดอกเดือนธันวาคมถึงมกราคม.