กระเจาะชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูง ๑๕-๑๘ ม. แต่อาจสูงได้ถึง ๒๐ ม. เรือนยอดค่อนข้างกลมหรือทรงกระบอก ใบอ่อนและยอดอ่อนมีขนนุ่มคล้ายไหม เปลือกสีเทา เรียบ หรือแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ กระพี้สีขาวอมน้ำตาล แก่นสีน้ำตาลดำ
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ยาว ๒๐-๓๐ ซม. ใบย่อย ๕-๗ ใบ รูปขอบขนานหรือรูปรีแกมรูปขอบขนานกว้าง ๓-๓.๕ ซม. ยาว ๕-๑๒ ซม. ส่วนกว้างที่สุดอยู่ประมาณกึ่งกลาง แล้วค่อย ๆ เรียวสอบไปทางโคนและปลาย ปลายมนมีติ่งแหลม โคนรูปลิ่มหรือมน แผ่นใบด้านล่างสีจางกว่าด้านบน ใบแก่เกลี้ยง ก้านใบย่อยสั้น มีหูใบย่อยขนาดเล็ก ปลายแหลมใบละ ๑ คู่
ช่อดอกออกพร้อมใบอ่อน ยาว ๑๕-๒๕ ซม. ดอกรูปดอกถั่ว สีขาว ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ ติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ มีขนนุ่ม กลีบดอก ๕ กลีบ เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นแผ่น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขน มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก
ฝักรูปขอบขนาน คล้ายฝักมีด ปลายกว้างเรียวสอบลงมาทางโคน เปลือกแข็ง ฝักแก่แตกเป็น ๒ ซีก มี ๓-๔ เมล็ด สีน้ำตาลคล้ำ แบน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๓ ซม.
กระเจาะชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นใกล้ลำห้วยในป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน ๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่าและลาว
เนื้อไม้ใช้ทำเสาเรือน ขื่อ รอด ตง ล้อเกวียน เพลาเกวียน เครื่องเรือน บัวรองฝา ครก สาก กระเดื่อง ลูกหีบ ฯลฯ