เตยใหญ่

Pandanus reticulosus H. St. John

ชื่ออื่น ๆ
เตย (เลย)
ไม้พุ่ม ลำต้นสั้นมาก ขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็น ๓-๔ แถว รูปแถบแกมรูปขอบขนาน ดอกแยกเพศต่างต้น ไร้วงกลีบรวม ช่อดอกออกที่ปลายยอด ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลดมีกาบเชิงประกอบ ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่น ผลแบบผลรวม สีออกม่วง รูปทรงรี ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็งจำนวนมาก รูปใบหอกกลับ ผนังผลชั้นกลางส่วนบนมีช่องว่างขนาดใหญ่มีเส้นใยตามขวางสีขาว ผนังผลชั้นกลางส่วนล่างเป็นเส้นใยและมีเนื้อ ผนังผลชั้นในมีผิวด้านนอกสีน้ำตาลอ่อน ด้านในสีน้ำตาลเข้มและเป็นมันวาว เหนียวและค่อนข้างแข็งคล้ายกระดูกอ่อน มีก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดทรงรูปไข่กลับ มี ๑ เมล็ด

เตยใหญ่เป็นไม้พุ่ม ลำต้นสั้นมาก ขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็น ๓-๔ แถว รูปแถบแกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๕ ซม. ยาวได้ถึง ๒ ม. บริเวณใกล้โคนใบกว้างประมาณ ๓.๘ ซม. ปลายเรียวแหลมถึงยาวคล้ายหางรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๑๐ ซม. โคนสีอ่อน แผ่เป็นกาบหุ้มรอบต้น ไร้หนาม ขอบใบบริเวณใกล้โคนมีหนามยาว ๓-๕ มม. แต่ละหนามห่างกัน ๑.๒-๒.๒ ซม. แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นกลางใบมีหนามยาวได้ถึง ๖ มม. เรียงห่างกัน หนามบริเวณใกล้โคนใบมักโค้ง เส้นใบเรียงแบบขนานตามยาวประมาณข้างละ ๓๓ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เส้นใบย่อยชั้นที่ ๓ เรียงตามขวาง นูนเด่นชัด มีลวดลายแบบตาข่ายรูปสี่เหลี่ยมหรือรูปขอบขนานสั้น ๆ

 ดอกแยกเพศต่างต้น ไร้วงกลีบรวม ช่อดอกออกที่ปลายยอด ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลดมีกาบเชิงประกอบ ก้านช่อดอกสั้น กาบช่อดอกบางและแห้งคล้ายกระดาษ ดอกเพศผู้สีขาวถึงสีนวล มีจำนวนมาก แต่ละดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่น รูปทรงรี กว้าง ๓-๕ ซม. ยาว ๕-๖.๕ ซม. ออกเดี่ยว ก้านช่อดอกสั้น ดอกเพศเมียสีเขียวอ่อน มีจำนวนมาก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๒.๕-๕ มม. สีน้ำตาล หนาและแข็ง เป็นมันวาว แบน มักโค้ง ปลายรูปลิ่มแคบหรือแยกเป็นแฉกสั้น ๒ แฉก ยอดเกสรเพศเมียรูปหัวใจหรือรูปไข่กว้าง ยาว ๑-๑.๕ มม. สีน้ำตาล มีปุ่มเล็ก

 ผลแบบผลรวม สีออกม่วง รูปทรงรี กว้างประมาณ ๕.๕ ซม. ยาวประมาณ ๗ ซม. ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็ง มีมากกว่า ๑๐๐ ผล รูปใบหอกกลับ มี ๖ เหลี่ยม กว้าง ๐.๙-๑.๔ ซม. ยาว ๒.๒-๒.๖ ซม. หนาประมาณ ๑ ซม. โคนตัด ปลายคล้ายหมวก ยาว ๖-๘ มม. ด้านข้างเรียบแบน บริเวณส่วนปลายประมาณ ๑ ใน ๔ แยกจากกัน ผนังผลชั้นกลางส่วนบนมีช่องว่างขนาดใหญ่มีเส้นใยตามขวางสีขาว ผนังผลชั้นกลางส่วนล่างเป็นเส้นใยและมีเนื้อ ผนังผลชั้นในมีผิวด้านนอกสีน้ำตาลอ่อน ด้านในสีน้ำตาลเข้มและเป็นมันวาว เหนียวและค่อนข้างแข็งคล้ายกระดูกอ่อน หนาประมาณ ๐.๘ มม. มีก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดทรงรูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๘ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. มี ๑ เมล็ด

 เตยใหญ่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักพบตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๑,๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน ในต่างประเทศพบที่เวียดนามและกัมพูชา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เตยใหญ่
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pandanus reticulosus H. St. John
ชื่อสกุล
Pandanus
คำระบุชนิด
reticulosus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- St. John, Harold
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1892-1991)
ชื่ออื่น ๆ
เตย (เลย)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางปริญญนุช กลิ่นรัตน์