ชุมแสงลูกยาน

Xanthophyllum obscurum A. W. Benn.

ชื่ออื่น ๆ
ชุมแสงค่าง (นราธิวาส); ชุมแสงทองแดง (ใต้); ตือลอ (มลายู-นราธิวาส)
ไม้ต้น ลำต้นมักเป็นพูพอน และมีต่อมซึ่งมีลักษณะเป็นรอยเว้ากระจายทั่วไป ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ถึงรูปรี ผิวใบด้านล่างมีต่อม ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ปลายกิ่งหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีขาวหรือสีเหลือง กลีบดอกรูปช้อน ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลมหรือรูปไข่กลับ สีเขียว ผิวเรียบเกลี้ยง เมล็ดมีประมาณ ๑๐ เมล็ด

ชุมแสงลูกยานเป็นไม้ต้น สูง ๙-๑๒ ม. ลำต้นมักเป็นพูพอน และมีต่อมซึ่งมีลักษณะเป็นรอยเว้ากระจายทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ถึงรูปรี กว้าง ๓.๖-๖.๕ ซม. ยาว ๑๓.๕-๑๖.๕ ซม. ปลายมนกลม มีติ่งแหลมสั้น ๆ โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียว ขอบเป็นคลื่นเล็กน้อยแผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ด้านล่างมีต่อม เส้นกลางใบเป็นร่องตื้นทางด้านบน เส้นแขนงใบข้างละประมาณ ๖ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแหมักเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๐.๔-๑ ซม. ใบแห้งสีน้ำตาลอมเหลือง

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ปลายกิ่งหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาว ๓.๕-๗.๕ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. ก้านดอกยาวประมาณ ๕ มม. กลีบเลี้ยงสีเขียวอมชมพูมี ๕ กลีบ รูปไข่ เรียงเป็น ๒ ชั้น ชั้นนอก ๓ กลีบ ยาว ๓-๔.๕ มม. ชั้นใน ๒ กลีบ ยาว ๕.๕-๖.๕ มม. กลีบดอกสีขาวหรือสีเหลือง มี ๕ กลีบ รูปช้อนกลีบคู่บนยาว ๑.๒-๑.๔ ซม. เกลี้ยงหรือมีขนปกคลุมหนาแน่นบริเวณโคนและปลายกลีบ กลีบคู่ข้างยาว ๑.๔-๑.๖ ซม. เกลี้ยง กลีบล่างยาว ๑.๒-๑.๔ ซม. เกลี้ยง กลีบดอกเมื่อแห้งสีแดงอมดำ เกสรเพศผู้ ๘ เกสร ติดที่โคนกลีบดอก ก้านรังไข่สั้นมาก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างกลม เกลี้ยง มี ๑ ช่องออวุล ๘-๑๘ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเกลี้ยง

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลมหรือรูปไข่กลับ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖.๕-๑๐.๕ ซม. สีเขียวผิวเรียบ เกลี้ยง เมล็ดมีประมาณ ๑๐ เมล็ด

 ชุมแสงลูกยานมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเล ๗๕๐-๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชุมแสงลูกยาน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Xanthophyllum obscurum A. W. Benn.
ชื่อสกุล
Xanthophyllum
คำระบุชนิด
obscurum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Bennett, Alfred William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1833-1902)
ชื่ออื่น ๆ
ชุมแสงค่าง (นราธิวาส); ชุมแสงทองแดง (ใต้); ตือลอ (มลายู-นราธิวาส)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาวนันทวรรณ สุปันตี