จุหลันเป็นกล้วยไม้ดินอายุหลายปี มักขึ้นเป็นกระจุกค่อนข้างแน่น แต่ละต้นเป็นหัวเทียม รูปไข่ สูงประมาณ ๓ ซม. กว้างประมาณ ๒ ซม. มีกาบใบหุ้มยาวได้ถึง ๑๓ ซม. กาบเป็นเยื่อรูปไข่ ปลายเรียวแหลมมักฉีกขาดเป็นแถบเล็กหรือเป็นเส้น ๆ เมื่อมีอายุมากขึ้น
ใบเดี่ยว เรียงสลับซ้อนเหลื่อม แต่ละต้นมีใบไม่เกิน ๕ ใบ รูปแถบ กว้าง ๑.๕-๓ ซม. ยาว ๐.๒๕-๑ ม. ปลายแหลม โคนแผ่เป็นกาบและมีแนวรอยต่อกับแผ่นใบสูงจากหัวเทียม ๔-๖ ซม. แผ่นใบค่อนข้างบางและเหนียวคล้ายหนัง กางโค้งออกและบิดเล็กน้อย สีเขียวเข้มค่อนข้างมัน
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกเป็นช่อก้านโดดจากซอกกาบใบที่หุ้มหัวเทียม ช่อตั้งตรง ก้านช่อยาว ๔๐-๘๐ ซม. โคนก้านช่อมีกาบใบประดับรูปใบหอก ๓-๕ กาบ หรือมากกว่า เรียงซ้อนเหลื่อมกัน แต่ละกาบยาวได้ถึง ๑๐ ซม. เหนือขึ้นไปมีใบประดับรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว ๐.๔-๔ ซม. ปลายแหลม เรียงสลับเป็นระยะห่าง แกนช่อดอกยาวครึ่งหนึ่งถึง ๑ ใน ๓ ของความยาวก้านช่อ ดอกเรียงเวียนเป็นระยะรอบแกน มี ๖-๒๖ ดอก ก้านดอกรวมทั้งรังไข่สีเขียว มักแกมสีม่วงปนสีน้ำตาลยาว ๒-๔ ซม. แต่ละดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ ซม. มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงทั้ง ๓ กลีบ คล้ายกันโดยทั่วไปสีม่วงปนสีน้ำตาลและมีสีคล้ำมาก รูปรีกว้าง ๕-๗ มม. ยาว ๒.๕-๓ ซม. ปลายแหลม ขอบม้วน
ผลแบบผลแห้งแตก รูปคล้ายกระสวย ยาวประมาณ ๖ ซม. มีสันตามยาว ผลติดอยู่ที่แกนช่อในแนวตั้ง เมล็ดขนาดเล็กมากคล้ายผง มีจำนวนมาก
จุหลันมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก พบขึ้นตามป่าผลัดใบและป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเล ๖๐๐-๑,๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนตุลาคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา เมียนมาจีนตอนใต้ เวียดนาม และญี่ปุ่น
จุหลันเป็นกล้วยไม้ที่นิยมปลูกกันมานานในจีนและญี่ปุ่น มีการปลูกเพื่อการค้าในไต้หวัน.