เตยเหาะ

Pandanus unicornutus H. St. John

ชื่ออื่น ๆ
ชองลิ, เตยใหญ่ (สุราษฎร์ธานี); มะกูแวจาโบ๊ะ, มะกูแวบูเก๊ะ (มลายู-นราธิวาส)
ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่ง เปลือกสีอ่อน มีปุ่มหนามสั้นกระจายทั่วไป โคนมีรากค้ำขนาดใหญ่ มีหนามสั้นทั่วไป ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็น ๓-๔ แถว รูปแถบแกมรูปขอบขนาน ดอกแยกเพศต่างต้น ไร้วงกลีบรวม ช่อดอกออกที่ปลายยอด ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลดมีกาบเชิงประกอบ ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่น ผลแบบผลรวม สีเขียวคล้ำเกือบสีดำ รูปทรงกลมแกมรูปทรงรีหรือรูปทรงกระบอก ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็งจำนวนมาก รูปทรงรีแคบแกมรูปทรงกระบอก ผนังผลชั้นกลางเป็นเส้นใย ผนังผลชั้นในสีฟาง เหนียวและค่อนข้างแข็งคล้ายกระดูกอ่อน ผิวด้านในเป็นมันวาว มีก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียติดทน ลักษณะคล้ายเขา โค้งไปยังปลายผลชัดเจน เมล็ดรูปทรงรี มี ๑ เมล็ด

เตยเหาะเป็นไม้ต้น สูง ๗-๑๕ ม. ลำต้นตั้งตรง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๗-๒๐ ซม. แตกกิ่ง เปลือกสีอ่อน มีปุ่มหนามสั้นกระจายทั่วไป โคนมีรากค้ำขนาดใหญ่ ยาวได้ถึง ๑ ม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๘ ซม. มีหนามสั้นทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็น ๓-๔ แถว รูปแถบแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๖-๑๑ ซม. ยาว ๑.๕-๔ ม. มักออกเป็นกระจุกใกล้ยอด ปลายเรียวแหลมถึงรูปลิ่มแคบ ยาวประมาณ ๘ ซม. โคนเรียบแผ่เป็นกาบหุ้มรอบต้น ขอบและสันใบมีหนามสีน้ำตาลอ่อน แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง พับตามยาวเป็นสันคู่ เมื่อตัดตามขวางเห็นเป็นรูปตัวเอ็มกว้าง เส้นกลางใบด้านล่างมีหนามรูปกรวยหรือรูปลิ่ม โค้ง ยาว ๔-๗ มม. แต่ละหนามห่างกัน ๑-๑.๔ ซม. กระจายห่าง ๆ เส้นใบเรียงแบบขนานถี่ตามยาว มีประมาณ ๑๔๐ เส้น

 ดอกแยกเพศต่างต้น ไร้วงกลีบรวม ช่อดอกออกที่ปลายยอด ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลดมีกาบเชิงประกอบ มีช่อเชิงลด ๓-๕ ช่อ ก้านช่อดอกบิด กาบช่อดอกสีขาวหรือสีขาวนวล รูปคล้ายใบ บางและแห้งคล้ายกระดาษ ดอกเพศผู้จำนวนมาก มีกลิ่นหอม แต่ละดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่น รูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๑๐-๑๒ ซม. ยาว ๑๔-๑๘ ซม. ออกเดี่ยวหรือมีได้ถึง ๗ ช่อ ก้านช่อดอกยาวประมาณ ๗๐ ซม. ดอกเพศเมียมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเดี่ยว ยาว ๖-๘ มม. ลักษณะคล้ายเขา แหลม หนา และแข็ง พบน้อยที่แยกเป็น ๒ แฉก ยอดเกสรเพศเมียรูปแถบแกมรูปใบหอก ยาว ๓-๔ มม. มีปุ่มเล็กสีน้ำตาล

 ผลแบบผลรวม สีเขียวคล้ำเกือบสีดำ รูปทรงกลมแกมรูปทรงรีหรือรูปทรงกระบอก กว้าง ๘-๑๐ ซม. ยาว ๑๒-๒๐ ซม. ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็งจำนวนมาก รูปทรงรีแคบแกมรูปทรงกระบอก กว้าง ๕-๑๐ มม. ยาว ๓-๕ ซม. มี ๕ เหลี่ยม ด้านข้างเรียบ ตรงหรือโค้ง บริเวณส่วนปลายประมาณ ๑ ใน ๗ แยกจากกัน ผนังผลชั้นกลางเป็นเส้นใย


ผนังผลชั้นในสีฟาง เหนียวและค่อนข้างแข็งคล้ายกระดูกอ่อน หนาประมาณ ๐.๑ มม. ผิวด้านในเป็นมันวาว มีก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียติดทน ลักษณะคล้ายเขา ยาว ๖-๘ มม. โค้งไปยังปลายผลชัดเจน เมล็ดรูปทรงรี กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๑.๕-๑.๗ ซม. มี ๑ เมล็ด

 เตยเหาะมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ มักพบขึ้นบนดินเลนบริเวณใกล้แหล่งน้ำ ในป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๗๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกันยายนถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่เวียดนามและกัมพูชา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เตยเหาะ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pandanus unicornutus H. St. John
ชื่อสกุล
Pandanus
คำระบุชนิด
unicornutus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- St. John, Harold
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1892-1991)
ชื่ออื่น ๆ
ชองลิ, เตยใหญ่ (สุราษฎร์ธานี); มะกูแวจาโบ๊ะ, มะกูแวบูเก๊ะ (มลายู-นราธิวาส)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางปริญญนุช กลิ่นรัตน์