ก่องข้าวหลวงเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๓ ม. ลำต้นตรง เกือบทุกส่วนมีขนรูปดาวและขนธรรมดาปะปนกัน
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่กว้างหรือรูปหัวใจ กว้าง ๑-๑๕ ซม. ยาว ๔-๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนเว้าลึกเป็นรูปหัวใจ ขอบหยักมนถึงจักฟันเลื่อยไม่สม่ำเสมอ เส้นโคน ใบ ๕-๙ เส้น เส้นแขนงใบข้างละ ๑-๓ เส้น ด้านล่างมีขนหนาแน่น ด้านบนมีขนหยาบ ก้านใบยาว ๑-๘ ซม. มีขน หู ใบรูปแถบถึงรูปลิ่ม ยาวประมาณ ๒ มม.
ดอกเดี่ยว ออกตามง่ามใบ สีเหลืองอมส้ม ดอกบานกว้าง ๓-๔ ซม. ตามยอดที่มีดอกใบมักลดรูป ทำให้คล้ายช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง ก้านดอกยาว ๒.๕-๓ ซม. มีข้อต่ออยู่สูงกว่ากึ่งกลาง กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน ยาวประมาณ ๕ มม. โคนเชื่อมติดกันประมาณครึ่งหนึ่ง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ถึงรูปใบหอก กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม ด้านนอกมีขนรูปดาว ด้านในมีขนธรรมดา กลีบเลี้ยงติดทนจนกระทั่งเป็นผล กลีบดอกรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๓-๔ ซม. ปลายกลีบมนกว้าง ด้านนอกมีขน เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปกรวยยาวประมาณ ๔ มม. มีขนรูปดาว ปลายแยกเป็นก้านชูอับเรณู ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. เรียวเล็กและเกลี้ยง อับเรณูกลม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกระบอก อยู่ภายในเส้าเกสรเพศผู้ มีขนมากที่ยอด มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๔-๖ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๕ ก้าน ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มกลม
ผลแบบแยกแล้วแตก รูปกลมถึงรูปไข่ กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาว ๑.๕-๒ ซม. เมื่อแก่แยกออกเป็นอีกผล ๕ ซีก กว้างประมาณ ๖ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ปลายเรียว
ก่องข้าวหลวงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคกลาง ขึ้นตามป่าโปร่ง ชายป่าดิบ และตามที่โล่ง ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย
รากใช้เป็นยาบำรุง เป็นยาแก้ไข้ แก้ไอ แก้ตกขาว แก้ถุงน้ำดีทำงานผิดปรกติ ต้นใช้บำรุงโลหิต ขับลม ช่วยย่อย และเจริญอาหาร น้ำต้มจากใบหรือทั้งต้นใช้ดื่มขับปัสสาวะ แก้เบาหวาน ใบบดกับน้ำเล็กน้อยใช้ทาแก้อักเสบ แก้ปวดฟัน และเหงือกอักเสบ ดอกใช้เป็นยาระบาย.