โคกกระสุน ๒

Tribulus cistoides L.

ไม้ล้มลุกหลายปี เกือบทุกส่วนมีขนประปราย ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงตรงข้าม คูใบประกอบมีขนาดต่างกันมาก ใบย่อยรูปขอบขนาน ดอกเดี่ยวสีเหลือง ออกตามซอกใบเฉพาะข้างที่เป็นใบประกอบเล็กผลแบบผลแห้งแยก รูปค่อนข้างกลม มีขนประปรายเมื่อแก่แตกเป็น ๔-๕ เสี่ยง แต่ละเสี่ยงมีหนามแหลม ๒ คู่ มีเมล็ด ๑-๕ เมล็ด

โคกกระสุนชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นทอดราบไปตามพื้นดิน ยาวได้ถึง ๒ ม. ยอดชูขึ้น เกือบทุกส่วนมีขนประปราย

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงตรงข้าม ยาว ๒-๗.๕ ซม. ใบประกอบคู่ที่อยู่ตรงข้ามกันมีขนาดต่างกันมาก สลับกันไปมา ใบประกอบเล็กมีใบย่อย ประมาณ ๘ ใบ ใบประกอบใหญ่มีใบย่อย ๑๔-๑๖ ใบ ปลายแกนกลางใบเป็นติ่งหนาม ก้านใบยาวประมาณ ๗ มม. ใบย่อยรูปขอบขนาน กว้าง ๒.๕-๙ มม. ยาว ๐.๖-๒.๒ ซม. ปลายทู่หรือค่อนข้างแหลม โคนมนหรือรูปหัวใจ เบี้ยว ขอบเรียบ ด้านล่างมีขนสีเทา ก้านใบย่อยสั้นมากหรือไม่มี หูใบมี ๑ คู่ รูปเคียว ยาว ๔-๗ มม. ปลายแหลม

 ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบเฉพาะข้างที่เป็นใบประกอบเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ ซม. ก้านดอกยาว ๒-๔ ซม. มีขนสั้นนุ่ม กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ร่วงง่ายรูปใบหอก กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๐.๗-๑.๑ ซม. ปลายเรียวแหลม มีขนสั้นนุ่ม กลีบดอกสีเหลือง มี ๕ กลีบ รูป


ไข่กลับ กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. ปลายกว้างค่อนข้างตัด โคนสอบ เกสรเพศผู้ ๘-๑๐ เกสร ยาวไม่เท่ากันเรียงเป็น ๒ วง ก้านชูอับเรณูยาว ๓-๕ มม. อับเรณูยาว ๒-๓ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ มม. มีขน มี ๔-๕ ช่อง แต่ละช่องออวุล ๑-๕ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๒-๔ มม. ยอดเกสรเพศเมียรูปครึ่งวงกลม

 ผลแบบผลแห้งแยก รูปค่อนข้างกลม มีขนประปราย มี ๔-๕ พู แต่ละพูมีหนามแหลม ๒ คู่ คู่ยาวอยู่กึ่งกลางพู ยาว ๐.๕-๑ ซม. คู่สั้นอยู่โคนพู ยาวประมาณ ๒ มม. เปลือกค่อนข้างหนา ก้านผลยาว ๒-๕.๕ ซม. เมื่อแก่แตกเป็น ๔-๕ เสี่ยง แต่ละเสี่ยงกว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๘ มม. มีเมล็ด ๑-๕ เมล็ด

 โคกกระสุนชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบขึ้นบนดินปนทรายตามชายหาดที่สูงใกล้ระดับนํ้าทะเล ออกดอกและเป็นผลตลอดปี ในต่างประเทศพบทั่วไปในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
โคกกระสุน ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Tribulus cistoides L.
ชื่อสกุล
Tribulus
คำระบุชนิด
cistoides
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต