เตยหิน

Pandanus fibrosus Gagnep.

ชื่ออื่น ๆ
เตย (สกลนคร); เตยน้ำ (เลย)
ไม้ล้มลุกหลายปีหรือไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นแตกกิ่ง ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็น ๓-๔ แถว รูปแถบแคบ ดอกแยกเพศต่างต้น ไร้วงกลีบรวม ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลดมีกาบเชิงประกอบ ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่น ผลแบบผลรวม รูปทรงรีหรือรูปทรงกลม มีผลย่อยจำนวนมาก ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปกรวยกลับ ผนังผลบาง ผนังผลชั้นกลางมีเส้นใยสีน้ำตาล ผนังผลชั้นในบางแต่แข็ง มียอดเกสรเพศเมียแข็งเป็นหนาม ติดทน มีเมล็ด ๑ เมล็ด

เตยหินเป็นไม้ล้มลุกหลายปีหรือไม้พุ่ม สูงประมาณ ๑.๕ ม. อาจสูงได้ถึง ๓ ม. ลำต้นแตกกิ่ง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็น ๓-๔ แถว รูปแถบแคบ กว้าง ๑.๕-๑๔ ซม. ยาว ๐.๕-๑ ม. ปลายเรียวแหลมยาว ขอบใบมีหนามไปถึงโคนใบ ยาว ๒-๓.๕ มม. โค้งขึ้นเล็กน้อย เส้นกลางใบด้านล่างมีหนาม แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านล่างมีนวลเล็กน้อย เส้นใบเรียงแบบขนานถี่ตามยาว มี ๒๖-๒๘ เส้น

 ดอกแยกเพศต่างต้น ไร้วงกลีบรวม ช่อดอกออกที่ปลายยอด ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลดมีกาบเชิงประกอบ ยาว ๒-๕ ซม. กาบช่อดอกสีขาวหรือสีขาวนวล คล้ายรูปเรือ กว้าง ๐.๖-๒ ซม. ยาว ๓.๕-๑๔ ซม. บริเวณขอบช่วงบนมีหนามละเอียดหรือไร้หนาม ดอกเพศผู้จำนวนมาก มีกลิ่นหอม เกสรเพศผู้มี ๑๐-๒๑ เกสร ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดที่โคน ยาวประมาณ ๗ มม. ส่วนก้านชูอับเรณูที่แยกเป็นอิสระซึ่งอยู่บริเวณปลายยาวประมาณ ๒ มม. อับเรณูรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้างประมาณ ๐.๘ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม.


ปลายมีรยางค์เป็นติ่งแหลมเล็ก ยาวประมาณ ๐.๒ มม. ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่น รูปทรงกระบอก กว้างประมาณ ๑.๒ ซม. ยาวประมาณ ๓ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๗-๑๒ ซม. มีกาบช่อดอกสีขาวนวล คล้ายรูปเรือ กว้าง ๑-๔ ซม. ยาว ๑๐-๒๔ ซม. ขอบมีหนามประปรายหรือไร้หนาม มีดอกจำนวนมาก ดอกเพศเมียมีเกสรเพศเมีย ๑ เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ติดใกล้โคน ก้านยอดเกสรเพศเมียอยู่ที่ปลาย ยาว ๒-๓.๕ มม. โค้ง ยอดเกสรเพศเมียรูปลิ้นหรือรูปแถบ ยาว ๑.๕-๒.๕ มม. ไม่แตกแขนง ด้านล่างเรียบ ด้านบนหยาบ

 ผลแบบผลรวม รูปทรงรีหรือรูปทรงกลม กว้าง ๓-๕ ซม. ยาว ๖-๙ ซม. ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็ง มี ๒๓๐-๖๐๐ ผล รูปกรวยกลับ กว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๑-๒ ซม. แยกจากกันเมื่อผลแก่ ผนังผลบาง ผนังผลชั้นกลางมีเส้นใยสีน้ำตาล ผนังผลชั้นในบางแต่แข็ง หนาประมาณ ๐.๑ มม. มียอดเกสรเพศเมียแข็งเป็นหนามติดทน มีเมล็ด ๑ เมล็ด

 เตยหินมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักพบบริเวณใกล้แหล่งน้ำ ออกดอกและเป็นผลเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่จีน ไต้หวัน เวียดนาม และลาว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เตยหิน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pandanus fibrosus Gagnep.
ชื่อสกุล
Pandanus
คำระบุชนิด
fibrosus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Gagnepain, FranÇois
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Gagnepain, FranÇois (1866-1952)
ชื่ออื่น ๆ
เตย (สกลนคร); เตยน้ำ (เลย)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางปริญญนุช กลิ่นรัตน์