จุมปี

Magnolia baillonii Pierre

ชื่ออื่น ๆ
จำปา (นครศรีธรรมราช, จันทบุรี); จำปาป่า (ตะวันออก); จำปีป่า (ทั่วไป)
ไม้ต้น เปลือกหนา มีช่องอากาศเป็นขีดยาวมีกลิ่นฉุน กิ่งอ่อนมีขนสีเหลืองหนาแน่น ใบเดี่ยวเรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่ หูใบหุ้มยอดอ่อนและเชื่อมติดกับก้านใบตั้งแต่ ๑ ใน ๔ ถึงครึ่งหนึ่งของความยาวก้าน มีขนหนาแน่น ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบกลิ่นหอมแรง กลีบรวมสีขาว ผลแบบผลกลุ่ม ผลย่อยเชื่อมติดกันเป็นรูปทรงกลมค่อนข้างรีหรือรูปทรงกระบอก มีช่องอากาศนูนเด่นสีขาว เมื่อผลแก่เปลือกผลย่อยหลุดออกจากกัน เหลือแกนผลย่อยติดอยู่กับแกนกลางคล้ายก้างปลา เมล็ดรูปทรงกลมค่อนข้างรีสีแดง ติดอยู่กับแกนผล

จุมปีเป็นไม้ต้น ผลัดใบช่วงสั้น ๆ สูง ๒๐-๓๕ ม.เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๖-๑ ม. เปลือกหนา สีน้ำตาลปนเทา แตกเป็นร่องลึกตามยาว มีช่องอากาศเป็นขีดยาวมีกลิ่นฉุน กิ่งอ่อนมีขนสีเหลืองหนาแน่น แตกกิ่งในระดับสูง ทรงพุ่มกลม โปร่ง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง ๓.๕-๘ ซม. ยาว ๖-๒๕ ซม. ปลายแหลมและมีติ่งแหลมสั้น โคนรูปลิ่มจนถึงมน ขอบเป็นคลื่น แผ่นใบบางและเหนียวด้านล่างมีขน เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๕ เส้น เป็นร่องตื้นทางด้านบนและเป็นสันนูนทางด้านล่าง เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน เมื่อใบแห้ง ก้านใบยาว ๑.๕-๓.๕ ซม. มีขนหนาแน่น หูใบหุ้มยอดอ่อนและเชื่อมติดกับก้านใบตั้งแต่ ๑ ใน ๔ ถึงครึ่งหนึ่งของความยาวก้าน มีขนหนาแน่น

 ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ กลิ่นหอมแรง มีกาบหุ้มดอก ๒-๓ กาบ มีขนสีเหลือง ก้านดอกยาว ๐.๘-๑.๔ ซม. มี ๑ ข้อ มีขนสีเหลือง กลีบรวม ๘-๒๑ กลีบ สีขาวลักษณะคล้ายกัน แต่ละกลีบบาง รูปใบหอกจนถึงรูปแถบ กว้าง ๐.๔-๑ ซม. ยาว ๓-๓.๕ ซม. กลีบชั้นในเรียวแคบและสั้นกว่ากลีบชั้นนอกเล็กน้อย เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูยาว ๑-๒ มม. เกลี้ยง อับเรณูยาว ๔-๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีมากกว่า ๓๐ รังไข่แยกจากกันเป็นอิสระ เรียงเวียนบนแกนฐานดอกรูปทรงกระบอก ยาว ๖-๙ มม. แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุล ๔-๖ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียค่อนข้างกลม

 ผลแบบผลกลุ่ม ก้านช่อผลยาว ๑-๒ ซม. ผลย่อยเชื่อมติดกันเป็นรูปทรงกลมค่อนข้างรีหรือรูปทรงกระบอก กว้าง ๔.๕-๗ ซม. ยาว ๗-๑๑ ซม. มีช่องอากาศนูนเด่นสีขาว เมื่อผลแก่เปลือกผลย่อยจะหลุดออกจากกัน เหลือแกนผลย่อยติดอยู่กับแกนกลางคล้ายก้างปลาและมีเมล็ดสีแดงติดอยู่กับแกนผลย่อยกลุ่มละ ๓-๖ เมล็ด รูปทรงกลมค่อนข้างรี กว้าง ๖-๗ มม. ยาว ๐.๗-๑ ซม.

 จุมปีมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเล ๖๐๐-๑,๒๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ผลแก่เดือนตุลาคมถึงมกราคม ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จุมปี
ชื่อวิทยาศาสตร์
Magnolia baillonii Pierre
ชื่อสกุล
Magnolia
คำระบุชนิด
baillonii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Pierre, Jean Baptiste Louis
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1833-1905)
ชื่ออื่น ๆ
จำปา (นครศรีธรรมราช, จันทบุรี); จำปาป่า (ตะวันออก); จำปีป่า (ทั่วไป)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น