เตยหอม

Pandanus amaryllifolius Roxb.

ชื่ออื่น ๆ
ปาแนะวองิง (มลายู-นราธิวาส)
ไม้ล้มลุก มีรูปแบบการเจริญเติบโตเป็น ๒ แบบ คือ แบบต้นเล็ก ลำต้นเรียวยาว มักแตกกิ่งทอดชูยอดขึ้น มีรากอากาศตลอดลำต้น และมักแตกหน่อออกไปเรื่อย ๆ แบบต้นใหญ่ ลำต้นตั้งขึ้น ไม่แตกกิ่งหรือแตกกิ่งบ้างเล็กน้อย มีรากค้ำขนาดใหญ่ ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปแถบแกมรูปขอบขนาน แบบต้นเล็กไม่พบการสร้างดอกและผล แบบต้นใหญ่ยังไม่พบช่อดอกเพศเมีย ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลดมีกาบเชิงประกอบ ห้อยลง หายากและพบน้อยมาก ช่อเชิงลดรูปทรงกระบอก มี ๓-๔ ช่อ ไร้วงกลีบรวม ดอกเพศผู้แยกเป็นกลุ่มย่อยหนาแน่นจำนวนมาก ไม่พบการติดผล

เตยหอมเป็นไม้ล้มลุก มีรูปแบบการเจริญเติบโตเป็น ๒ แบบ แบบต้นเล็ก ลำต้นเรียวยาว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๕ ซม. สูง ๑-๑.๖ ม. มักแตกกิ่งทอดชูยอดขึ้น มีรากอากาศตลอดลำต้น และมักแตกหน่อออกไปเรื่อย ๆ แบบต้นใหญ่ ลำต้นตั้งขึ้น เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๕ ซม. สูง ๒-๔.๕ ม. ไม่แตกกิ่งหรือแตกกิ่งบ้างเล็กน้อย มีรากค้ำขนาดใหญ่

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน มี ๒ แบบ แบบต้นเล็ก ใบรูปแถบแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๕ ซม. ยาว ๒๕-๗๕ ซม.


ปลายแหลม ขอบเรียบ ยกเว้นบริเวณปลายใบมีหนามขนาดเล็กมาก ยาวน้อยกว่า ๑ มม. ประปราย แผ่นใบสีเขียวอ่อน ค่อนข้างบางและเหี่ยวง่าย ด้านล่างมักมีนวลและเป็นสัน ไร้หนาม พับจีบตามยาวเป็นสันคู่เห็นชัดเจนที่ปลายใบ แบบต้นใหญ่ ใบรูปแถบกว้างแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๗-๙ ซม. ยาว ๑.๕-๒.๒ ม. ปลายแหลม ขอบเรียบ ยกเว้นบริเวณปลายใบมีหนามขนาดเล็กมาก ยาวน้อยกว่า ๑ มม. ประปราย และอาจพบหนามอวบสั้นขนาดเล็กได้บ้าง ๑-๓ หนามบริเวณใกล้โคน แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้ม พับจีบตามยาวเป็นสันคู่นูนเด่นชัด ด้านล่างมีนวลและเป็นสัน เส้นใบเรียงแบบขนานถี่ตามยาว จำนวนมาก เห็นไม่ชัด

 เตยหอมแบบต้นเล็กยังไม่พบการสร้างดอกและผล ส่วนแบบต้นใหญ่ยังไม่พบช่อดอกเพศเมีย มีแต่ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลดมีกาบเชิงประกอบ ห้อยลง ยาวได้ถึง ๖๐ ซม. หายากและพบน้อยมากประกอบด้วยช่อเชิงลดมีกาบ รูปทรงกระบอก มี ๓-๔ ช่อ ช่อดอกยาวได้ถึง ๓๕ ซม. หรือมากกว่า ช่อดอกที่อยู่ด้านปลายสั้นกว่ามาก กว้างประมาณ ๒ ซม. ยาว ๙-๑๐ ซม. กาบช่อดอกยาวประมาณ ๙๐ ซม. สีขาว กาบช่อย่อยที่อยู่โคนช่อปลายมีสีเขียวคล้ายใบ ไร้วงกลีบรวม ในช่อมีดอกเพศผู้แยกเป็นกลุ่มย่อยหนาแน่นจำนวนมาก แต่ละกลุ่มย่อยเพศผู้มีเส้าเกสร แบนข้างถึงแบน กว้าง ๑.๕-๒.๕ มม. ยาว ๔-๙ มม. ประกอบด้วยเกสรเพศผู้ ๓-๖ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้นมาก กว้าง ๐.๔-๐.๖ มม. ยาว ๐.๕-๑.๕ มม. อับเรณูรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ มม. ปลายทู่โค้ง [ข้อมูลของช่อดอกเพศผู้มาจาก Sun & DeFilipps (2010), Setyowati & Siemonsma (1999)]

 ผล ไม่พบการติดผล

 เตยหอมเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ คาดว่ามีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะโมลุกกะ (อินโดนีเซีย) มีการนำเตยหอมแบบต้นเล็กเข้ามาปลูกทั่วไปในประเทศไทย ส่วนแบบต้นใหญ่ยังไม่พบว่ามีการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทย ในต่างประเทศมีการปลูกในศรีลังกา จีน (ไหหนาน) เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอีกหลายประเทศ

 ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับในสวนหรือตกแต่งภายในอาคาร ใบมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ใช้จักสาน ห่ออาหาร เป็นส่วนผสมในบุหงา น้ำคั้นจากใบใช้แต่งกลิ่นและสีอาหารคาวหวาน มีสรรพคุณทาง


สมุนไพร เช่น บำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย แก้ร้อนใน กระหายน้ำ เป็นส่วนประกอบของยาแผนโบราณ [Setyowati & Siemonsma (1999)].

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เตยหอม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pandanus amaryllifolius Roxb.
ชื่อสกุล
Pandanus
คำระบุชนิด
amaryllifolius
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1751-1815)
ชื่ออื่น ๆ
ปาแนะวองิง (มลายู-นราธิวาส)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางปริญญนุช กลิ่นรัตน์