ชุมแสงชนิดนี่เป็นไม้ต้น สูง ๑๐-๒๕ ม. ลำต้นมักเป็นพูพอนและมีต่อมซึ่งมีลักษณะเป็นรอยเว้ากระจายทั่วไป
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ถึงรูปรี กว้าง ๓.๖-๖.๕ ซม. ยาว ๑๓.๕-๑๖.๕ ซม. ปลายมนหรือเรียวแหลมสั้น โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียว ขอบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยงด้านล่างมีนวลและมีต่อม ๔-๔๐ ต่อม กระจายทั่วไปหรืออาจมีต่อม ๑ คู่บริเวณโคนใบ เส้นกลางใบแบนหรือเป็นร่องทางด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๒ เส้น ปลายเส้นเชื่อมต่อกันเป็นเส้นขอบใน เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทางด้านล่าง ใบแห้งสีน้ำตาลอมเหลือง ก้านใบยาว ๔-๕ มม.
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาว ๓.๕-๗.๕ ซม. มีขนหนาแน่น ก้านช่อดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. ดอกมีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงสีเขียวอมชมพู มี ๕ กลีบ เรียงเป็น ๒ ชั้น ชั้นนอก ๓ กลีบ ชั้นใน ๒ กลีบ มีขนาดใหญ่กว่าชั้นนอก รูปไข่ กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๑.๕-๒.๕ มม. กลีบดอกสีขาวหรือสีม่วงอมขาว มี ๕ กลีบ รูปช้อน เมื่อแห้งเป็นสีเหลืองหรือสีส้ม แยกเป็นกลีบคู่บน กลีบคู่ข้าง และกลีบล่างกว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๖-๘ มม. กลีบคู่บนยาวที่สุดกลีบล่างสั้นที่สุด เกสรเพศผู้ ๘ เกสร ยาว ๕-๖ มม. ติดที่โคนกลีบดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนหนาแน่นมี ๑ ช่อง ออวุล ๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๖ มม. มีขนประปราย ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มและหยักเป็น ๒ พู
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๓.๕ ซม. สีเขียว ผิวเรียบ เกลี้ยงเมล็ดรูปค่อนข้างกลม มี ๑-๒ เมล็ด
ชุมแสงชนิดนี่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าดิบชื้น ป่าบึงน้ำจืด และป่าผลัดใบ โดยเฉพาะบริเวณใกล้ลำธาร ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๘๕๐ ม. ออกดอกเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคม เป็นผลเดือนสิงหาคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่บังกลาเทศ เมียนมาภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย.