จุกโรหินี ๒

Streptocaulon kleinii Wight et Arn.

ชื่ออื่น ๆ
ขี้เดือน (สุราษฎร์ธานี); ไชสง (ชัยภูมิ)
ไม้เลื้อย ทุกส่วนมียางสีขาวคล้ายน้ำนม และมีขนนุ่มสีเหลืองปนน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลปนแดงต้นและกิ่งเรียวแต่เหนียว ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่กลับหรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือด้านข้างของโคนก้านใบ ดอกสีขาวหรือสีขาวอมเหลืองหรือสีเหลือง ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว รูปทรงกระบอกปลายเรียว ผิวมีขนสั้นนุ่ม เมล็ดจำนวนมากรูปขอบขนาน ค่อนข้างแบน ปลายด้านหนึ่งมีขนเป็นพู่สีขาว

จุกโรหินีชนิดนี้เป็นไม้เลื้อย ยาว ๑-๓ ม. ทุกส่วนมียางสีขาวคล้ายน้ำนม และมีขนนุ่มสีเหลืองปนน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลปนแดง ต้นและกิ่งเรียวแต่เหนียว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๔ มม.

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่กลับหรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๔-๖ ซม. ปลายมนหรือมนกลม มีติ่งแหลมสั้น โคนมนกลมหรือมนกลมกึ่งรูปติ่งหู ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนมีขนสั้นกระจายห่าง ๆ หรือเกือบเกลี้ยง ด้านล่างมีขนยาวนุ่มหนาแน่น สีขาว เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๕ เส้น เส้นกลางใบ เส้นแขนงใบ และเส้นใบย่อยเป็นร่องทางด้านบน ทางด้านล่างเห็นชัดเฉพาะเส้นกลางใบซึ่งเป็นสันนูน ก้านใบยาว ๕-๘ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ทั้งช่อยาวไม่เกินความยาวของใบ แยกแขนง ๒-๔ ครั้ง ออกตามซอกใบหรือด้านข้างของโคนก้านใบ ก้านช่อยาว ๐.๘-๑.๘ ซม. ใบประดับที่โคนแขนงช่อและโคนก้านดอกออกตรงข้าม รูปไข่แกมรูปใบหอก ยาว ๑-๑.๕ มม. ค่อนข้างติดทน ก้านดอกยาว ๓-๕ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันแยกเป็นแฉกลึก ๕ แฉก รูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๑ มม. ด้านนอกมีขน โคนแฉกด้านในมีต่อมเล็ก ๆ รูปสามเหลี่ยมระหว่างแฉก ๑ ต่อม กลีบดอกสีขาว สีขาวอมเหลือง หรือสีเหลือง เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๕-๘ มม. โคนเชื่อมติดกัน แผ่กางออกในแนวระนาบ ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาว ๒.๕-๓ มม. ด้านนอกมีขนสากสีขาว ด้านในเกลี้ยงรยางค์เส้าเกสร ๕ อัน แต่ละอันเรียว ยาว ๑.๕-๑.๘ มม. ส่วนโคนติดที่ฐานของก้านเกสรเพศผู้ ปลายแยกเป็น ๒ แฉก ยาวกว่าเส้าเกสร เกสรเพศผู้ ๕ เกสร เชื่อมกันเป็นเส้าเกสร เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. สูงประมาณ ๑ มม. ก้านชูอับเรณูรูปขอบขนาน ค่อนข้างหนา ปลายอับเรณูมีเยื่อเป็นแผ่นบาง กลุ่มเรณูเป็นกลุ่มเล็ก ๆ จำนวนมาก ติดอยู่บนแผ่นใสสีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาลอ่อน รูปคล้ายช้อน ปลายหยักเป็น ๒ แฉกโคนเป็นปุ่มเหนียว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ รังไข่ แยกจากกัน แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมากก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น เชื่อมติดกัน ยอดเกสรเพศเมียเป็นแผ่นหนา ขอบมี ๕ เหลี่ยม

 ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว มี ๑-๒ ผล รูปทรงกระบอกปลายเรียว กว้างประมาณ ๕ มม. ยาว ๘-๑๐ ซม.


ผิวมีขนสั้นนุ่ม เมล็ดจำนวนมาก รูปขอบขนาน ค่อนข้างแบน ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายด้านหนึ่งมีขนเป็นพู่สีขาว ยาวประมาณ ๒ ซม.

 จุกโรหินีชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ พบขึ้นตามที่โล่งชายป่า และป่าผลัดใบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๕๐ ม. ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จุกโรหินี ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Streptocaulon kleinii Wight et Arn.
ชื่อสกุล
Streptocaulon
คำระบุชนิด
kleinii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wight, Robert
- Arnott, George Arnott Walker
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wight, Robert (1796-1872)
- Arnott, George Arnott Walker (1799-1868)
ชื่ออื่น ๆ
ขี้เดือน (สุราษฎร์ธานี); ไชสง (ชัยภูมิ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง