ก่องข้าวดอย

Abutilon sinense Oliv.

ไม้พุ่ม มีขนรูปดาวและมีขนยาวธรรมดาแซมทั่วไป ใบเรียงเวียน รูปไข่กว้างถึงค่อนข้างกลม ปลายเรียวแหลมเป็นหางยาว ดอกสีเหลืองอมส้ม ออกเดี่ยวตามง่ามใบ คว่ำลงผลแบบแยกแล้วแตก รูปกรวย

ก่องข้าวดอยเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๒ ม. มีขนรูปดาวและมีขนยาวธรรมดาแซมทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่กว้างถึงค่อนข้างกลม กว้าง ๔-๑๕.๕ ซม. ยาว ๗-๑๘ ซม. ปลายเรียวแหลมเป็นหางยาวโคนเว้าลึกเป็นรูปหัวใจ ขอบหยักซี่ฟันไม่สม่ำเสมอ เส้นโคนใบ ๗-๙ เส้น มีเส้นแขนงใบจากเส้นกลางใบข้างละ ๒-๓ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแหหรือแบบขั้นบันได แผ่นใบมีขนรูปดาวทั้ง ๒ ด้าน แต่ด้านล่างมีขนหนานุ่มกว่า ก้านใบยาว ๕-๑๕ ซม. หูใบรูปเส้นด้าย ยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. ร่วงง่าย

 ดอกใหญ่ สีเหลืองอมส้ม ออกเดี่ยวตามง่ามใบ ลักษณะคว่ำหน้า มักออกหนาแน่นตามปลายกิ่ง ก้านดอกยาว ๕-๗.๕ ซม. มีข้อต่ออยู่ต่ำกว่าโคนดอก ๐.๕-๑ ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันประมาณ ๑ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปใบหอก กว้าง ๗-๙ มม. ยาว ๒-๓ ซม. ปลายเรียวแหลม มีขนหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่กลับ กว้าง ๔-๕ ซม.


ยาว ๖.๕-๗.๕ ซม. ปลายกลีบมน โคนสอบแคบ มีเส้นตาม ยาว เส้าเกสรเพศผู้ยาว ๓.๕-๔.๕ ซม. อับเรณูจำนวนมากมีก้านสั้นติดรอบบริเวณครึ่งปลายของหลอดเกสรเพศผู้ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่ค่อนข้างกลม มี ๘-๑๐ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก เกสรเพศเมียอยู่ในหลอดเกสรเพศผู้ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ปลายแยกเป็น ๘-๑๐ ก้าน โผล่พ้นหลอดเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบแยกแล้วแตก รูปกรวย กว้าง ๒-๒.๕ ซม. ยาว ๒-๓ ซม. ปลายผลแผ่กว้างและตัดตรง โคนสอบเล็กน้อยประกอบด้วยอีกผล ๘-๑๐ ซีก แต่ละซีกมีจะงอยที่ยอด หันออกด้านนอก มีเมล็ดรูปไต ๗-๙ เมล็ด กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๒-๓ มม. มีขนแข็ง

 ก่องข้าวดอยเป็นพรรณไม้ที่พบใหม่ของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามเขาหินปูนที่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง ๑,๖๕๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ก่องข้าวดอย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Abutilon sinense Oliv.
ชื่อสกุล
Abutilon
คำระบุชนิด
sinense
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Oliver, Daniel
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1830-1916)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์