เตยห้วย

Pandanus acaulescens H. St. John

ไม้พุ่ม ลำต้นสั้นมาก ขึ้นเป็นกอ ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็น ๓-๔ แถว รูปแถบแกมรูปขอบขนาน ดอกแยกเพศต่างต้น ไร้วงกลีบรวม ช่อดอกออกที่ปลายยอด ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลดมีกาบเชิงประกอบ ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่น ออกเดี่ยว ตั้งขึ้น ผลแบบผลรวม รูปทรงรี ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็งจำนวนมาก สีเขียวเข้ม รูปลิ่ม มี ๖ เหลี่ยม ปลายรูปคล้ายหมวกเห็ด ผนังผลชั้นกลางส่วนบนเป็นโพรง มีเยื่อหุ้มตามขวางสีขาว ผนังผลชั้นกลางส่วนล่างเป็นเส้นใยและมีเนื้อ ผนังผลชั้นในสีน้ำตาล บางและแข็งคล้ายกระดูก ผิวด้านในเรียบและเป็นมันวาว มีก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดทรงรูปไข่แกมรูปใบหอกกลับ มี ๑ เมล็ด

เตยห้วยเป็นไม้พุ่ม ลำต้นสั้นมาก ขึ้นเป็นกอ

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็น ๓-๔ แถว รูปแถบแกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๖ ซม. ยาว ๒.๕-๓.๕ ม. บริเวณใกล้โคนใบกว้างประมาณ ๔ ซม. ปลายค่อย ๆ เรียวแคบ ปลายสุดยาวคล้ายหางเป็นสันสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาว ๑๐-๑๕ ซม. โคนใบสีน้ำตาลแดง หนา เป็นมันวาว แผ่เป็นกาบหุ้มรอบลำต้น ไร้หนาม ขอบใบเริ่มมีหนามที่ประมาณ ๑๖ ซม. ขึ้นมาจากโคนใบ หนามรูปลิ่มแคบ ยาว ๑.๕-๒.๕ มม. สีเหลืองอ่อน โค้งขึ้นด้านบน แต่ละหนามห่างกัน ๐.๕-๑ ซม. ช่วงกลางถึงปลายใบขอบจักฟันเลื่อยเล็กและถี่ แผ่นใบค่อนข้างหนา พับตามยาวเป็นสันคู่เมื่อตัดตามขวางเห็นเป็นรูปตัวเอ็มกว้าง เส้นกลางใบเป็นร่องกว้างทางด้านบน ด้านล่างมีหนามรูปลิ่มแคบ ยาว ๒-๓ มม. โค้งแบบคันศร แต่ละหนามห่างกัน ๑-๑.๘ มม. ช่วงปลายไร้หนาม เส้นใบเรียงแบบขนานตามยาวประมาณข้างละ ๔๙ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เส้นใบย่อยชั้นที่ ๓ เกิดตามขวาง มีลวดลายแบบตาข่ายรูปสี่เหลี่ยม เห็นเด่นชัดใกล้ขอบใบ

 ดอกแยกเพศต่างต้น ไร้วงกลีบรวม ช่อดอกออกที่ปลายยอด ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลดมีกาบเชิงประกอบ ดอกเพศผู้มีจำนวนมาก แต่ละดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่น รูปทรงรี ออกเดี่ยว ตั้งขึ้น ก้านช่อดอกยาวประมาณ ๕ ซม. รูปสามเหลี่ยม กึ่งรูปคล้ายกระบอง ช่วงปลายมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ ซม. มีกาบช่อดอกคล้ายใบหลายกาบบริเวณครึ่งบนของช่อดอกหุ้มช่อดอกเพศเมีย กาบที่อยู่ด้านในจะเหี่ยวและแห้งคาต้น กาบที่อยู่ช่วงบนกว้างประมาณ ๖ ซม. ยาวประมาณ ๑๗ ซม. ขอบจักฟันเลื่อยถี่ ช่อดอกเพศเมียแต่ละช่อประกอบด้วยเกสรเพศเมียจำนวนมาก แยกเป็นกลุ่มย่อย ๆ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปคล้ายเขา ยาว ๔-๖ มม. สีน้ำตาลอมแดง แข็ง เป็นมันวาว ช่วงล่างรูปทรงกระบอก ช่วงบนแบน โค้ง เห็นชัด ส่วนใหญ่ปลายมักแยกเป็น ๒ แฉก ยอดเกสรเพศเมียรูปใบหอก ยาว ๓-๓.๕ มม. สีน้ำตาล มีปุ่มเล็ก ๆ

 ผลแบบผลรวม รูปทรงรี กว้าง ๙-๑๐ ซม. ยาว ๑๔-๑๕ ซม. ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็ง มีได้ถึง ๗๐๐ ผล สีเขียวเข้ม กว้าง ๐.๗-๑ ซม. ยาว ๓-๓.๓ ซม. หนา ๐.๖-๑ ซม. รูปลิ่ม มี ๖ เหลี่ยม ปลายรูปคล้ายหมวกเห็ด สูง ๔-๕ มม. ด้านข้างเรียบแบน บริเวณส่วนปลายประมาณ ๑ ใน ๕ แยกจากกัน ผนังผลชั้นกลางส่วนบนเป็นโพรง มีเยื่อหุ้มตามขวางสีขาว ผนังผลชั้นกลางส่วนล่างเป็นเส้นใยและมีเนื้อ ผนังผลชั้นในสีน้ำตาล แข็งคล้ายกระดูก หนาประมาณ ๑ มม. ผิวด้านในเรียบและเป็นมันวาว มีก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดทรงรูปไข่แกมรูปใบหอกกลับ ยาวประมาณ ๑.๓ ซม. มี ๑ เมล็ด

 เตยห้วยเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ พบขึ้นตามทางน้ำ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๘๐๐-๑,๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เตยห้วย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pandanus acaulescens H. St. John
ชื่อสกุล
Pandanus
คำระบุชนิด
acaulescens
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- St. John, Harold
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1892-1991)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางปริญญนุช กลิ่นรัตน์