ก่องข้าวกินีเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๑.๕ ม. ลำต้นรูปทรงกระบอก เกือบทุกส่วนยกเว้นกลีบดอกมีขนรูปดาว
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่แกมรูปหัวใจ กว้าง ๔-๘.๕ ซม. ยาว ๔-๑๐ ซม. ปลายแหลมหรือค่อนข้างมน โคนเว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบหยักมนแกมจักฟันเลื่อย ด้านบนมีขนประปรายด้านล่างมีขนหนาแน่น มีเส้นโคนใบ ๗-๙ เส้น เส้นแขนงใบ ข้างละ ๑-๓ เส้น ก้านใบยาว ๑.๕-๙ ซม. หูใบรูปแถบ โค้งพับลง ยาวได้ถึง ๕ มม.
ดอกสีเหลืองอมส้ม ออกเดี่ยวตามง่ามใบ ดอกบานกว้าง ๒-๒.๕ ซม. ก้านดอกยาว ๓.๕-๕.๕ ซม. ยาวกว่าก้านใบมีข้อต่ออยู่ใกล้โคนดอก มีขนหนาแน่น กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. โคนเชื่อมติดกันประมาณครึ่งหนึ่งปลายแยกเป็นแฉกรูปไข่ ๕ แฉก กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๙ มม. ปลายเรียวแหลม ด้านนอกมีขนหนาแน่นด้านในมีขนรูปดาวปนกับขนธรรมดา กลีบเลี้ยงติดทนจนกระทั่งเป็นผล กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่กว้าง กว้างประมาณ ๙ มม. ยาวประมาณ ๘ มม. ปลายกลีบเว้า บริเวณขอบกลีบค่อนไปทางโคนกลีบมีขน เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก โคนติดกันเป็นหลอดโป่งพอง ยาวประมาณ ๗ มม. ปลายแยกเป็นก้านชูอับเรณูสั้น ๆ ติดกันเป็นกระจุกกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔ มม. อับเรณูกลม สีเหลืองอ่อน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ อยู่ภายในเส้าเกสรเพศผู้ ค่อนข้างกลม กว้างประมาณ ๖ มม.
ผลแบบแยกแล้วแตก รูปกลมแป้น กว้างประมาณ ๑.๓ ซม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายแบน ยาวใกล้เคียงกับกลีบเลี้ยงหรือยาวกว่าเล็กน้อย ซีกผลมี ๑๗-๒๖ ซีก รูปไต แบน กว้างประมาณ ๖ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายเรียวแหลมด้านบนและด้านนอกมีขนสีขาวเป็นมันหนาแน่น แต่ละซีกผลมี ๒-๓ เมล็ด รูปไต กว้างและยาวประมาณ ๓ มม. ตามผิวมีปุ่มเล็ก ๆ ขั้วเมล็ดสีน้ำตาล
ก่องข้าวกินีมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามที่รกร้างและที่โล่ง ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคมาเลเซีย แอฟริกาเขตร้อน และออสเตรเลีย
สารสกัดจากต้นใช้ป้องกันโรคมะเร็ง.