แคหางค่างสั้นเป็นไม้ต้น สูง ๕-๑๒ ม. กิ่งก้านมีเปลือกผิวย่น
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงตรงข้ามยาว ๑๘-๔๐ ซม. ก้านใบยาว ๖-๗ ซม. แกนกลางเป็นร่องใบย่อย ๗-๙ ใบ เรียงตรงข้าม ใบย่อยคู่ล่างสุดไม่ลดรูป รูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง ๔-๖.๕ ซม. ยาว ๑๓-๑๖ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือยาวคล้ายหาง โคนแหลมค่อนข้างกว้างหรือมน ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยง บริเวณโคนใบย่อยมีตุ่มใบขนาดเล็กที่มีขนและต่อมที่เป็นแผ่นเกิดอยู่ที่ซอกเส้นใบเส้นแขนงใบข้างละ ๔-๗ เส้น ก้านใบย่อยด้านข้างยาว ๑-๒ ซม. ก้านใบย่อยที่ปลายยาว ๒.๕-๓.๗ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๑๒-๑๕ ซม. เกลี้ยง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด กว้างมากกว่า ๕ มม. ยาว ๑.๘-๒.๕ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกแหลม ๒-๓ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน ด้านหน้าแยกลึกได้ถึงครึ่งหนึ่งของความยาวหลอด คล้ายกาบหุ้มช่อ เกลี้ยงและมีต่อมกระจายอยู่ทั่วไป กลีบดอกเชื่อมติดกัน โคนป่อง ช่วงปลายเป็นรูประฆังแกมรูปแตร กว้างประมาณ ๔ ซม. ยาว ๘-๑๐ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกมน ๕ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน เกสรเพศผู้มี ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน อยู่ภายในหลอดกลีบดอกรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๖ สัน เกลี้ยง มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาวยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก
ผลแบบผลแห้งแตก รูปคล้ายทรงกระบอกตรงหรือโค้งเล็กน้อย กว้าง ๒.๕-๔.๕ ซม. ยาว ๓๒-๔๔ ซม. มีสันตามยาว ๖ สัน สันสูงประมาณ ๓ มม. ปลายแหลมห้อยลง เมื่อแก่แตกกลางพูเป็น ๒ ซีก แต่ละซีกหนาและแข็งคล้ายเนื้อไม้ ร่องระหว่างสันผิวขรุขระ ตรงกลาง กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. และค่อย ๆ สอบแคบลงไปสู่โคนและปลายผล เมล็ดจำนวนมาก อัดแน่น รูปขอบขนานแบน ผิวเรียบ มีปีกเป็นเยื่อใส กว้าง ๐.๙-๑.๘ ซม. ยาว ๔-๔.๕ ซม.
แคหางค่างสั้นเป็นพรรณไม้หายาก ในประเทศไทยมีตัวอย่างเพียง ๒ ชิ้น มีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะทางภาคเหนือ พบขึ้นในป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับนํ้าทะเลประมาณ ๔๐๐ ม. เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่ลาวและเวียดนาม.