เตยหนูอันดามันเป็นไม้ล้มลุกหลายปี มีเหง้าใต้ดินสั้น แต่ละกอมี ๒-๔ ต้น ลำต้นเหนือดินรูปทรงกระบอกหรือรูปสามเหลี่ยมมีสันเป็นมุมแหลม กว้าง ๒-๖ มม. สูง ๗-๓๗ ซม. พบบ้างที่สูงได้ถึง ๕๐ ซม. สีเขียวถึงสีน้ำตาลแดง เรียบหรือมีขนสาก มีเกล็ดหุ้มที่โคน รูปไข่ถึงรูปใบหอก กว้าง ๐.๖-๒.๘ ซม. ยาว ๑-๑๖ ซม. ปลายมักแหลมถึงมน
ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็น ๓ แถว ออกเป็นกระจุกที่โคนต้น รูปแถบ กว้าง ๑.๕-๔.๗ ซม. ยาว ๐.๖-๒ ม. ปลายเรียวแหลมยาวถึงแหลมเข็ม โคนสอบเรียวจนถึงกาบ ขอบเรียบถึงจักฟันเลื่อยถี่และมีขนสาก มีเส้นจากโคนใบเด่นชัด ๓ เส้น แผ่นใบมักหนาคล้ายแผ่นหนัง เรียบถึงพับเป็นสันคู่ กาบใบสีน้ำตาลแดงถึงสีน้ำตาลเข้ม กว้าง ๑.๔-๔ ซม. ยาว ๙-๒๒ ซม.
ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อเชิงลดเชิงประกอบ คล้ายช่อกระจุกแน่น สีน้ำตาล รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๗-๕ ซม. ออกที่ปลายลำต้นเหนือดิน มีวงใบประดับหลายใบรองรับ
ผลแบบผลเปลือกแข็งเมล็ดเดียว รูปทรงรีถึงทรงรูปไข่กลับ กว้าง ๒.๓-๓.๕ มม. ยาว ๓.๕-๕ มม. ปลายเป็นติ่งแหลมอ่อน โคนคอดเป็นก้านสั้น เมล็ดรูปคล้ายผล
เตยหนูอันดามันมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามที่ชื้นแฉะและตามพื้นป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑๐๐-๔๐๐ ม. ในต่างประเทศพบทางหมู่เกาะอันดามันและทางเหนือของคาบสมุทรมลายู
เตยหนูอันดามันคล้ายกับเตยหนู ๒ [Mapania palustris (Hassk. ex Steud.) Fern.-Vill. et Naves var. palustris] ต่างกันที่จำนวนช่อแขนงย่อยและรูปใบประดับช่อแขนงย่อย.