ชุมเส็ด

Glochidion perakense Hook. f.

ชื่ออื่น ๆ
ไคร้มด (เหนือ); พุงหมู (ชุมพร); มันปู, มันปูใหญ่ (นครศรีธรรมราช); สมเส็ด (นราธิวาส)
ไม้พุ่ม ลำต้นค่อนข้างเกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่หรือรูปคล้ายเคียว หูใบแข็ง รูปสามเหลี่ยมปลายแหลม ร่วงช้า ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเป็นกระจุกตามซอกใบ สีเขียวอ่อนหรือสีเขียวแกมสีเหลืองไม่มีกลีบดอก ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม แป้น เมล็ดรูปคล้ายพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว

ชุมเส็ดเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๕ ม. ลำต้นค่อนข้างเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่หรือรูปคล้ายเคียวกว้าง ๒-๔.๕ ซม. ยาว ๔-๑๕ ซม. ปลายเรียวมนถึงเรียวแหลม โคนสอบแคบ เบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบด้านบนสีเขียว เป็นมัน เกลี้ยง ด้านล่างค่อนข้างเกลี้ยงเส้นกลางใบและเส้นใบนูนชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๒ เส้น เส้นใบย่อยแบบขั้นบันไดก้านใบยาวประมาณ ๕ มม. หูใบแข็ง รูปสามเหลี่ยมกว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแหลม ร่วงช้า

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเป็นกระจุกตามซอกใบ แต่ละกระจุกมักมีดอกเพศผู้ ๑ ดอก ดอกเพศเมีย ๓-๘ ดอก สีเขียวอ่อนหรือสีเขียวแกมสีเหลือง ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ดอกเพศผู้เมื่อบานมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓.๕ มม. ก้านดอกยาวประมาณ ๕ มม. กลีบเลี้ยง ๖ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมกันเป็น ๒ วง กลีบวงนอกใหญ่กว่ากลีบวงในเล็กน้อย รูปรี กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๑ มม. เป็นแกนยึดอับเรณูติดแนบตามยาว อับเรณูรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ขนาดเล็กมาก มีส่วนของปลายแกนยาวยื่นพ้นอับเรณูเป็นรยางค์เล็ก ๆ ขอบหยักซี่ฟัน ยาวประมาณ ๐.๒ มม. ดอกเพศเมียเมื่อบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒.๕ มม. มีก้านดอกสั้น เมื่อเป็นผลยาว ๒.๕-๔ มม. กลีบเลี้ยง ๖ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมกันเป็น ๒ วง กลีบวงนอกใหญ่กว่ากลีบวงในเล็กน้อย รูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑-๑.๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างรี กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๑.๒-๒.๕ มม. มีขน มี ๕-๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมากหรือไม่มี ยอดเกสรเพศเมียเป็นรูปกรวยคว่ำแคบ ยาว ๑.๕-๓.๕ มม. ปลายสุดเป็นหยักซี่ฟัน ยาว ๐.๖-๑ มม.

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๙ มม. หนาหรือสูง ๓.๕-๕ มม. มีขนหรือค่อนข้างเกลี้ยง มักเป็นพูรอยประสานเห็นไม่ชัด แต่ละพูแยกจากโคน ร่วงง่ายเมล็ดรูปคล้ายพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว

 ชุมเส็ดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าละเมาะ ชายป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๕๐ ม. ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคมาเลเซียถึงหมู่เกาะโซโลมอน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชุมเส็ด
ชื่อวิทยาศาสตร์
Glochidion perakense Hook. f.
ชื่อสกุล
Glochidion
คำระบุชนิด
perakense
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1817-1911)
ชื่ออื่น ๆ
ไคร้มด (เหนือ); พุงหมู (ชุมพร); มันปู, มันปูใหญ่ (นครศรีธรรมราช); สมเส็ด (นราธิวาส)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์