แคหางค่างเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๑๐-๒๐ ม. เรือนยอดเป็นพุ่มทรงรี หนาแน่น กิ่งอ่อนมีขนหนาแน่นเปลือกลำต้นสีเทาหรือสีนํ้าตาลอ่อน เรียบหรือค่อนข้างเรียบ
ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคี่ เรียงตรงข้าม ยาว ๒๐-๔๕ ซม. ก้านใบยาว ๕-๑๓ ซม. หูใบเทียมเป็นแผ่นกลมหรือไม่มี ใบย่อย ๕-๙ ใบ เรียงตรงข้าม รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๕-๑๐ ซม. ยาว ๑๐-๒๓ ซม. ใบคู่บนใหญ่กว่าใบคู่ล่าง ปลายสอบหยักคอดเป็นติ่งแหลมหรือยาวคล้ายหาง โคนมนและเบี้ยว ขอบจักฟันเลื่อยถี่หรือเรียบ แผ่นใบหนา ผิวสากเส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๐ เส้น ก้านใบย่อยบนสุดยาว ๒-๗ ซม. ก้านใบย่อยคู่ล่างยาว ๑-๗ มม.หรือไม่มี
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๕๐ ซม. ดอกสีเหลืองหม่นอมน้ำตาลแดง บานกลางคืนก้านดอกยาว ๒-๓.๗ ซม. มีขนหนาแน่นกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันยาว ๓.๕-๕ ซม. ปลายแยกลึกลงด้านหนึ่งคล้ายกาบ มีขนหนาแน่น กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวยหรือรูประฆังสีนํ้าตาลแดง ปลายแยกเป็นรูปปากเปิด มี ๕ แฉก สีเหลือง รูปกลมหรือรูปสามเหลี่ยมฐานกว้าง ปลายมน เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี ๒ คู่ อยู่ในหลอดกลีบดอก แต่ละคู่ยาวไม่เท่ากัน ก้านชูอับเรณูสีแดง อับเรณูและเรณูสีเหลือง อาจมีเกสรเพศผู้เป็นหมัน ขนาดเล็ก ๑ เกสร จานฐานดอกรูปวงแหวน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมากก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียแยก เป็น ๒ แฉก
ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู เป็นสกรูปคล้ายทรงกระบอก แบนด้านข้าง ยาว ห้อยลง กว้าง ๒.๕-๓.๓ ซม. ยาว ๔๕-๗๐ ซม. ปลายสอบแหลมหรือกึ่งป้าน มีขนปุยสีเทาหนาแน่นเมล็ดจำนวนมาก อัดแน่น ผิวค่อนข้างเรียบ
แคหางค่างมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเฉพาะทางภาคเหนือ พบตามพื้นที่โล่งชายป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๙๐๐-๑,๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ฮ่องกง ลาว เวียดนาม และฟิลิปปินส์
ประโยชน์ใช้ดอกเป็นอาหาร.