เตยหนู ๕

Pandanus obovatus H. St. John

ชื่ออื่น ๆ
กะเปียะหนู (นราธิวาส); กูแวตีกุ๊, มงกวงตีกุ๊, สายะตีกุ (มลายู-นราธิวาส); เตย (ตราด); เตยหอม (เลย, ตร
ลักษณะคล้ายไม้ต้นขนาดเล็ก แตกกิ่ง ลำต้นมีหนามขนาดเล็ก ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็น ๓-๔ แถว รูปแถบแกมรูปขอบขนาน ดอกแยกเพศต่างต้น ไร้วงกลีบรวม ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลดมีกาบเชิงประกอบ ดอกเพศผู้สีขาวนวล ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่น ดอกเพศเมืยสีเขียว ผลแบบผลรวม รูปทรงค่อนข้างกลม ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็ง มี ๑๕-๑๘ ผล ทรงรูปไข่กลับ เป็น ๓ เหลี่ยม เบามาก ผนังผลชั้นกลางแห้งและลักษณะคล้ายไส้ไม้ มีเส้นใยเรียงตามยาว บริเวณด้านล่างเป็นเส้นใยและมีเนื้อ ผนังผลชั้นในสีน้ำตาลเข้ม แข็งคล้ายกระดูกอ่อน มีก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดรูปทรงรี มี ๑ เมล็ด

เตยหนูชนิดนี้มีลักษณะวิสัยคล้ายไม้ต้น สูงประมาณ ๖ ม. แตกกิ่ง ลำต้นมีหนามขนาดเล็ก

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็น ๓-๔ แถว รูปแถบแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๓.๕ ซม. ยาวมากกว่า ๑.๑ ม. ปลายสอบเรียวแหลม โคนแผ่เป็นกาบหุ้มรอบต้น เรียบ ขอบโค้งพับลง บริเวณเหนือโคนใบขึ้นไป ๕-๗ ซม. มีหนามสีอ่อน รูปลิ่มแคบ ยาว ๒-๒.๕ มม. แต่ละหนามห่างกัน ๕-๙ มม. ขอบใบช่วงปลายใบจักฟันเลื่อย จักยาวประมาณ ๐.๒ มม. แต่ละจักห่างกัน ๐.๕-๑.๕ ซม. แผ่นใบกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นกลางใบด้านล่างช่วงโคนประมาณ ๑๕ ซม. ไร้หนาม ถัดขึ้นไปมีหนามรูปลิ่มแคบ ยาว ๐.๕-๑ มม. โค้งลง แต่ละหนามห่างกัน ๑.๕-๑.๘ ซม. เส้นใบเรียงแบบขนานตามยาวประมาณข้างละ ๓๙ เส้น

 ดอกแยกเพศต่างต้น ไร้วงกลีบรวม ช่อดอกออกที่ปลายยอด ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลดมีกาบเชิงประกอบ ดอกเพศผู้สีขาวนวล มีจำนวนมาก แต่ละดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่น รูปทรงค่อนข้างกลม ออกเดี่ยว ดอกเพศเมียสีเขียว มีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑.๑ ซม. ลักษณะคล้ายเขา แบน ยอดเกสรเพศเมียรูปไข่กลับกว้าง ยาวประมาณ ๘ มม. สีน้ำตาล

 ผลแบบผลรวม รูปทรงค่อนข้างกลม ยาวประมาณ ๒๓ ซม. ออกเดี่ยว ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็ง มี ๑๕-๑๘ ผล ทรงรูปไข่กลับ มี ๓ เหลี่ยม กว้างประมาณ ๕ ซม. ยาว ๗.๕-๘.๕ ซม. หนาประมาณ ๓.๗ ซม. เบามาก ด้านบนสีน้ำตาล เรียบ เป็นมันวาว และมีรอยแยกสีอ่อนตามยาวจำนวนมากบริเวณส่วนปลายประมาณ ๑ ใน ๓ แยกกัน ส่วนครึ่งล่างสีน้ำตาลอ่อน มีสันแหลมตามยาวหลายสัน ผนังผลชั้นกลางแห้งและลักษณะคล้ายไส้ไม้ มีเส้นใยเรียงตามยาว บริเวณด้านล่างเป็นเส้นใยและมีเนื้อ ผนังผลชั้นในสีน้ำตาลเข้ม แข็งคล้ายกระดูกอ่อน หนาประมาณ ๒-๓ มม. มีก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดรูปทรงรี กว้างประมาณ ๙ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. มี ๑ เมล็ด

 เตยหนูชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ มักพบบนเขาหินปูน ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่เวียดนาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เตยหนู ๕
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pandanus obovatus H. St. John
ชื่อสกุล
Pandanus
คำระบุชนิด
obovatus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- St. John, Harold
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1892-1991)
ชื่ออื่น ๆ
กะเปียะหนู (นราธิวาส); กูแวตีกุ๊, มงกวงตีกุ๊, สายะตีกุ (มลายู-นราธิวาส); เตย (ตราด); เตยหอม (เลย, ตร
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางปริญญนุช กลิ่นรัตน์