ชุมแพรกเขาเป็นไม้ต้น สูง ๒๐-๔๕ ม. เส้นรอบวงยาวได้ถึง ๔.๒ ม. โคนมีพูพอนสูงจากพื้นดินถึง ๓ ม. เปลือกสีน้ำตาลปนเทาถึงสีน้ำตาลแดงแตกล่อนเป็นแผ่นบางหรือแตกเป็นร่องตื้น กระพี้สีเหลืองอ่อน แก่นสีน้ำตาลแดง กิ่งอวบ สีเทา มีขนประปรายและมีรอยแผลใบชัดเจน
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีกว้างถึงรูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๗-๑๓ ซม. ยาว ๑๓-๒๐ ซม. ปลายมนถึงแหลม โคนมน ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนประปรายเมื่อใบแห้งเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๖-๒๐ เส้น เป็นร่องทางด้านบน และเป็นสันนูนทางด้านล่าง เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๕-๘ ซม. มีขนประปรายปลายและโคนก้านบวม
ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ กว้างและยาวได้ถึง ๑๐ ซม. มีขนปกคลุมซึ่งจะหลุดร่วงไปเมื่อแก่ ดอกสีแดงเข้ม กลีบรวมติดกันเป็นรูปโถ ยาว ๑.๕-๒ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ลึก ๑ ใน ๓ ถึงครึ่งหนึ่งของความยาวกลีบ มีขนทั้ง ๒ ด้าน ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๘-๑๐ เกสร ติดบนเส้าเกสรรูปพีระมิดดอกเพศเมียมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงรี มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียแผ่แบนคล้ายจาน มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน
ผลแบบผลปีกเดียว รูปทรงรี กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๒.๕-๓ ซม. มีปีกรูปช้อนเบี้ยว กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๘-๑๐ ซม. เกลี้ยง เมล็ดรูปคล้ายผล
ชุมแพรกเขามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามป่าดิบชื้นบริเวณที่มีการระบายน้ำดี ที่สูงจากระดับทะเล ๘๐๐-๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนธันวาคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบทางตอนใต้ของมาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์
ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องเรือนตกแต่งภายใน และด้ามจับเครื่องมือ.