จุกนารีเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๓ ม. กิ่งเป็นเหลี่ยม มีขนแข็งหนาแน่นสีแดงอมน้ำตาล ยาวประมาณ ๒ มม.
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอกหรือรูปไข่กลับกว้าง ๒-๘.๕ ซม. ยาว ๖-๒๐ ซม. ปลายแหลม โคนแหลมหรือรูปลิ่ม ขอบเรียบ มีขนครุย แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนมีขนแข็งเอน ด้านล่างมีขนยาวประปราย เส้นโคนใบ ๕-๗ เส้น ก้านใบยาว ๐.๕-๔ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุก มี ๓-๙ ดอก ออกตามยอดหรือซอกใบใกล้ยอด ก้านดอกยาว ๐.๔-๑ ซม. มีขนปกคลุม ใบประดับยาวได้ถึง ๑.๕ ซม. ด้านนอกมีขนแข็งหนาแน่น ดอกสีม่วงหรือสีม่วงอมชมพู ฐานดอกรูปถ้วย ยาว ๕-๙ มม. มีขนแข็งสีน้ำตาลหนาแน่นแนบชิดหรือกางออก ยาว ๒-๕ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกับฐานดอกรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๕ แฉกรูปสามเหลี่ยมแคบ กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. ด้านนอกมีขนปกคลุม กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่กลับ กว้าง ๑.๗-๒ ซม. ยาว ๒-๒.๕ ซม. ขอบมีขนครุย เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร เรียง ๒ ชั้น รูปร่างแตกต่างกันและขนาดไม่เท่ากัน ชั้นนอกยาวกว่าชั้นใน อับเรณูชั้นนอกสีม่วงหรือสีม่วงอมชมพู ยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. แกนอับเรณูส่วนที่อยู่ต่ำกว่าอับเรณูยืดยาวและโค้งงอเห็นชัด ที่โคนมีติ่งเล็กสีเหลือง ๒ ติ่ง อับเรณูชั้นในสีเหลือง ยาว ๕-๗ มม. แกนอับเรณูส่วนที่อยู่ต่ำกว่าอับเรณูเป็นติ่งสั้น อับเรณูมีช่องเปิดที่ปลาย ๑ ช่อง ก้านชูอับเรณูยาว ๐.๖-๑ ซม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ เชื่อมติดกับฐานดอกรูปถ้วย ยาวประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวฐานดอก มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก มีขนแข็งที่ปลายรังไข่ ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลมีเนื้อ รูปคล้ายระฆัง กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๕-๘ มม. เมื่อแก่แตกไม่เป็นระเบียบ มีขนปกคลุมเมล็ดเล็ก มีจำนวนมาก ยาวน้อยกว่า ๑ มม. ฝังอยู่ในเนื้อเยื่อนิ่มสีม่วงเข้มหรือสีม่วงอมแดง
จุกนารีมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบขึ้นตามทุ่งหญ้าและพื้นที่เปิดโล่งในป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเล ๘๐๐-๑,๙๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่เนปาล อินเดียเมียนมา จีน และเวียดนาม.