แคหัวหมูเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๕-๑๕ ม. เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ ทรงกลม กิ่งและยอดอ่อนมีขนปกคลุม
ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคี่ เรียงตรงข้าม ยาว ๒๓-๕๕ ซม. ก้านใบยาว ๖-๑๐ ซม. หูใบเทียมเป็นแผ่นกลมหรือไม่มี ใบย่อย ๙-๑๗ ใบ เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปรีถึงรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้าง ๔-๙ ซม. ยาว ๘-๒๓ ซม. ใบคู่ล่างเล็กกว่าใบคู่บน ปลายแหลมถึงเรียวแหลมหรือมีติ่งแหลม โคนสอบแคบหรือค่อนข้างกลม ขอบเรียบหรือหยัก ใต้ใบมีขนประปรายเกือบเกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๔ เส้น ก้านใบย่อยบนสุดยาวประมาณ ๑ ซม. และก้านใบย่อยคู่ล่างยาว ๑-๔ มม.หรือไม่มี
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๕๐ ซม. ดอกสีแดงเข้มอมส้ม บานกลางคืน เมื่อบานเต็มที่กว้าง ๘-๑๐ ซม. มีขนปุยสีน้ำตาลอมเหลืองหม่นร่วงง่าย ก้านดอกยาว ๒-๔ ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันยาว ๓.๓-๕.๕ ซม. ปลายแยกลึกลงด้านหนึ่งคล้ายกาบ มีขนหนาแน่น กลีบดอกสีแดงเข้มอมส้มโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวยหรือรูประฆัง ด้านนอกสีเหลืองหม่นอมเขียว ยาวประมาณ ๔.๓ ซม. ส่วนล่างรูปทรงกระบอกแคบลงสู่ส่วนโคน ยาว ๒-๒.๖ ซม. ปลายหลอดแยกเป็นรูปปากเปิด มี ๕ แฉก รูปกลม รูปรีกว้าง หรือรูปสามเหลี่ยมฐานกว้าง กว้าง ๓.๔-๔ ซม. ยาว ๔.๕-๔.๘ ซม. ปลายแฉกมน ด้านนอกมีต่อมประปราย เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี ๒ คู่ แต่ละคู่ยาวไม่เท่ากัน อับเรณูกว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. อาจมีเกสรเพศผู้เป็นหมันขนาดเล็ก ๑ เกสร จานฐานดอกรูปวงแหวน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมีย เรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก
ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู เป็นฝักรูปคล้ายทรงกระบอก แบนด้านข้าง ห้อยลง กว้าง ๒.๒-๒.๘ ซม. ยาว ๔๗-๗๐ ซม. ผิวเรียบ ปลายสอบแหลมหรือกึ่งป้านเมื่อเป็นผลอ่อนมีขนปุย แต่ร่วงง่าย มีเมล็ดอัดแน่นอยู่จำนวนมาก เมล็ดเกือบเรียบ มีปีกด้านข้าง ข้างละ ๑ ปีก รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๐.๘ ซม. ยาวประมาณ ๓.๕ ซม.
แคหัวหมูมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคกลาง และภาคใต้ พบขึ้นตามป่าผลัดใบหรือตามชายป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับนํ้าทะเลถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงมีนาคม เป็นผลเดือนมีนาคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่พม่าและลาว
ประโยชน์ ทางภาคเหนือใช้ดอกเป็นอาหาร.