ชุมแพรกขาวเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๔๐ ม. มีเส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง ๑๒๐ ซม. ลำต้นเปลาตรงโคนมีพูพอนสูงได้ถึง ๓ ม. เปลือกนอกสีเทาหรือสีน้ำตาลแดง เรียบ แตกเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาว หรือหลุดล่อนเป็นแผ่น เปลือกในสีน้ำตาลหรือสีชมพูอ่อนกระพี้สีขาวถึงสีแดงอ่อน กิ่งรูปทรงกระบอก เรียวยาวมีรอยแผลใบ กิ่งอ่อนมีขนรูปดาว
ใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อย ๕-๗ ใบ เรียงเวียน รูปใบหอกแกมรูปขอบขนานหรือรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๓-๙ ซม. ยาว ๗-๒๕ ซม. ปลายเรียวแหลมถึงเป็นติ่งแหลม โคนรูปลิ่ม มักเบี้ยวขอบเรียบ ใบอ่อนและเส้นใบมีขนหนาแน่น ใบแก่มีขนประปราย ก้านใบยาว ๙-๒๕ ซม.
ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๖-๑๕ ซม. มีขนสีสนิมหนาแน่น ดอกสีแดง กลีบรวมเชื่อมติดกันเป็นรูปคนโทหรือรูประฆัง ยาวประมาณ ๔ มม. ส่วนปลายแยกเป็นแฉก ๕ แฉก ยาว ๑-๒ มม. ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร มีก้านชูเกสรร่วมยาวได้ถึง ๐.๘ มม. เกลี้ยง อับเรณูเป็นกลุ่มรอบ ๆ เกสรเพศเมียที่เป็นหมัน ดอกเพศเมียมีก้านชูเกสรร่วมสั้นกว่าในดอกเพศผู้ ดอกเพศเมียมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ส่วนใหญ่มี ๕ รังไข่ แต่ละรังไข่มีออวุล ๑ เม็ด โคนรังไข่มีอับเรณูที่เป็นหมันติดอยู่ประปราย ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียแบน
ผลแบบผลปีกเดียว รูปทรงรี กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. มีปีกรูปช้อน กว้าง ๒-๒.๕ ซม. ยาว ๘-๑๐ ซม. เกลี้ยง เมล็ดรูปคล้ายผล
ชุมแพรกขาวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเล ๕๐-๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมาเลเซียและอินโดนีเซีย
ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ทำไม้อัดและตกแต่งภายใน.