จุกนกยูงชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นสั้นมาก
ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุกแบบกุหลาบซ้อนรูปแถบ กว้าง ๐.๕-๒.๕ มม. ยาว ๑-๔ ซม. เกลี้ยง ปลาย
ดอกแยกเพศร่วมช่อ ช่อดอกโดด มีจำนวนมากก้านช่อยาวได้ถึง ๑๔ ซม. กาบหุ้มก้านช่อยาว ๑-๒.๕ ซม. เกลี้ยง ปลายกาบแหลม ที่ปลายก้านเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่น รูปครึ่งวงกลมถึงรูปทรงกลม สีขาวอมน้ำตาล เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๖ มม. ยาว ๓-๕ มม. ฐานดอกร่วมมีลักษณะนูน ใบประดับรูปไข่กลับถึงรูปไข่กลับกว้าง ยาวประมาณ ๒.๕ มม. สีน้ำตาลอ่อน เกลี้ยงปลายเรียวแหลมถึงเรียวแหลมยาว ใบประดับย่อยรูปใบหอกกลับ ยาวประมาณ ๒ มม. สีน้ำตาลอ่อน มีขนสีขาวบริเวณส่วนกลางจนถึงส่วนปลาย ปลายเรียวแหลมยาว แต่ละดอกมีกลีบรวม ๕-๖ กลีบ เรียงเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๒-๓ กลีบ ดอกเพศผู้มีกลีบรวมชั้นนอกเชื่อมกันเป็นรูปคล้ายกาบ ยาว ๑-๑.๒ มม. สีน้ำตาลอ่อนปลายแยกเป็น ๓ แฉก ปลายแหลม มีขนสีขาวบริเวณส่วนกลางจนถึงส่วนปลาย กลีบรวมชั้นในเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ขนาดเท่ากัน เกลี้ยง ปลายแหลม อาจมีต่อมสีดำบริเวณปลายแฉก ไม่มีต่อมสีดำที่กลางแฉกเกสรเพศผู้ ๖ เกสร อับเรณูสีดำ ดอกเพศเมียมีกลีบรวมชั้นนอก ๒ กลีบ พบน้อยที่มี ๓ กลีบ รูปแถบ ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายแหลม สีน้ำตาลอ่อน มีขนสีขาวบริเวณส่วนกลางจนถึงส่วนปลาย กลีบรวมชั้นใน ๓ กลีบ รูปรีแคบ ฐานสอบเรียว ปลายแหลม สีน้ำตาลอ่อน กลีบหนึ่งยาวประมาณ ๒ มม. อีก ๒ กลีบยาวประมาณ ๑.๕ มม. มีขนสีขาวบริเวณส่วนกลางจนถึงส่วนปลาย บางครั้งพบต่อมสีดำ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ เส้น
ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู กว้างประมาณ ๐.๓ มม. ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ผนังบาง มี ๓ พู แต่ละพูมี ๑ เมล็ด เมล็ดรูปทรงรีถึงทรงรูปไข่ สีเหลืองอมน้ำตาล
จุกนกยูงชนิดนี้เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยมีเขตการกระจายพันธุ์เกือบทุกภาค ยกเว้นภาคกลางและภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบขึ้นตามนาข้าว ที่ชุ่มน้ำดินทราย ที่สูงจากระดับทะเล ๑๐-๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนตุลาคมถึงมกราคม.