เตยหนูชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกหลายปี มีเหง้าใต้ดิน ส่วนมากมักมี ๑ ต้น หรืออาจแตกเป็นกอ มักพบมีรากค้ำ ลำต้นเหนือดินรูปทรงกระบอก กว้าง ๒-๕ มม. สูง ๐.๔-๕ ซม. มีเกล็ดหุ้มอยู่ที่โคน รูปไข่ถึงรูปใบหอก กว้าง ๐.๖-๒.๘ ซม. ยาว ๑-๑๖ ซม. ปลายมักแหลมถึงมน
ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็น ๓ แถว ออกเป็นกระจุกที่โคนต้น รูปขอบขนาน กว้าง ๓.๕-๖.๕ ซม. ยาว ๐.๒-๑ ม. ปลายและโคนสอบแคบ แล้วสอบเรียวเป็นก้านใบเทียม ยาว ๙.๕-๓๙ ซม. ขอบเรียบถึงมี
ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อเชิงลดเชิงประกอบ คล้ายช่อกระจุกแน่น ออกที่ปลายลำต้นเหนือดิน สีน้ำตาล รูปทรงรี กว้าง ๐.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๑.๕-๔ ซม. มีวงใบประดับหลายใบรองรับ ใบประดับรูปคล้ายกาบช่อดอกย่อย รูปไข่ ยาว ๐.๖-๑.๔ ซม. ช่อแขนงย่อยแบบช่อเชิงลด มักพบมี ๑ ช่อ พบบ้างที่มีได้ถึง ๓ ช่อ ออกเป็นกระจุกที่ปลายยอด สีน้ำตาล รูปทรงรี กว้าง ๐.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๑.๕-๔ ซม. มีใบประดับรองรับหลายใบ เรียงเวียนรอบแกนกลาง รูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๔.๕-๕.๕ มม. ยาว ๐.๗-๑.๒ ซม. ปลายมน แต่ละใบประดับรองรับช่อแขนงย่อย มีช่อดอกย่อย ๑ ช่อ แต่ละช่อดอกย่อยมีดอกย่อยเพศผู้ ๓ ดอกออกที่โคน และมีดอกย่อยเพศเมีย ๑ ดอกออกที่ปลาย แต่ละดอกย่อยมีใบประดับดอกย่อยรองรับ ใบประดับดอกย่อยเพศผู้ ๒ ใบที่โคนช่อดอกย่อยรูปแถบ กว้าง ๑-๑.๔ มม. ยาว ๗.๖-๑๑.๕ ซม. ปลายแหลม ด้านหลังพับเป็นสัน ผิวมีขนสากประปราย ใบประดับดอกย่อยที่เหลือรองรับดอกย่อยเพศผู้ ดอกย่อยเพศเมียและดอกย่อยลดรูปคล้ายใบประดับของดอกย่อยเพศผู้ ไร้กลีบรวม ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๑ เกสร อับเรณูสีขาว รูปแถบ ยาว ๓.๕-๕ มม. ดอกเพศเมียมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบมี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ แฉก
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรีถึงทรงรูปไข่กลับ กว้าง ๒.๕-๔ มม. ยาว ๔-๗ มม. ปลายเรียวแหลม โคนอาจคอดเป็นก้านสั้น เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด
เตยหนูชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามที่ชื้นแฉะและตามป่าดิบชื้น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ในต่างประเทศพบทางภูมิภาคมาเลเซีย.