ชุมแพรกเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๔๒ ม. เส้นรอบวงยาวได้ถึง ๓ ม. โคนมีพูพอนสูงจากพื้นดินถึง ๒ ม. เปลือกนอกสีน้ำตาลถึงสีเทาแกมเหลือง ผิวเรียบถึงแตกเป็นเกล็ด เปลือกชั้นในสีแดง กระพี้สีเหลืองอ่อนแก่นสีแดงเข้ม กิ่งสีเหลือง มีขนและมีรอยแผลใบ
ใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อย ๓-๗ ใบเรียงเวียน รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๓-๘ ซม. ยาว ๘-๑๗ ซม. ปลายมน แหลม หรือเป็นติ่งสั้น ๆ โคนรูปลิ่ม เบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยงถึงมีขนประปราย ด้านล่างเกลี้ยง ยกเว้นบริเวณเส้นใบมีขน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๒-๑๖ เส้น ปลายเส้นเชื่อมกันใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแหเห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๕-๑๐ ซม. ก้านใบย่อยยาว ๑-๒ ซม. มีขน
ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง โปร่ง ออกตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบตามกิ่งใต้กลุ่มใบ ยาว ๑๔-๒๐ ซม. กลิ่นหอมอ่อน ๆ ก้านช่อยาว ๑.๕-๒ ซม. ก้านดอกยาวประมาณ ๑ มม. ดอกสีเหลืองอ่อนถึงสีส้มแดงกลีบรวมเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาว ๑.๓-๒ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ลึก ๑ ใน ๓ ถึงครึ่งหนึ่งของความยาวกลีบ มีขนหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ติดบริเวณปลายก้านชูเกสรร่วม อาจมีหรือไม่มีเกสรเพศเมียที่เป็นหมัน ดอกเพศเมียมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ส่วนใหญ่มี ๕ รังไข่แต่ละรังไข่มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นยอดเกสรเพศเมียแผ่แบนคล้ายจาน
ผลแบบผลปีกเดียว รูปทรงรี กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. มีปีกรูปช้อนเบี้ยว กว้างประมาณ ๓ ซม. ยาวประมาณ ๑๐ ซม. เกลี้ยง เมล็ดรูปคล้ายผล
ชุมแพรกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๖๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงเมษายน เป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่เวียดนาม ลาว และภูมิภาคมาเลเซีย
ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ทำไม้อัดและแผ่นชิ้นไม้อัด (particle board) สำหรับการก่อสร้างและตกแต่งภายใน.