กอกแดง

Dacryodes kingii (Engl.) Kalkman

ชื่ออื่น ๆ
กือลอแซ (มลายู-นราธิวาส)
ไม้ต้น ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อยรูปขอบขนาน โคนก้านโป่งพอง ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ยาวถึง ๑ ม. ดอกสีแดง ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง รูปรีเบี้ยว

กอกแดงเป็นไม้ต้น สูง ๑๐-๑๒ ม. ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ก้านใบเรียวยาว ยาว ๑๕-๒๐ ชม. โคนก้านโป่งพอง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒.๕ ซม. มีใบย่อย ๖-๘ คู่ เรียงตรงข้ามกัน ใบย่อยรูปขอบขนาน กว้าง ๕-๑๕ ซม. ยาว ๒๐-๖๐ ซม. ปลายเรียวเป็นติ่งแหลม โคนเบี้ยวหรือค่อนข้างมน ขอบเรียบ เส้นกลางใบโป่งนูนชัดเจนทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๕-๓๕ เส้น ปลายโค้งจรดกันใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแหกึ่งขั้นบันได เห็นชัดทางด้านล่าง ใบแห้งสีน้ำตาลแกมเขียว ก้านใบย่อยยาว ๑.๕-๒.๕ ซม.

 ดอกแยกเพศต่างต้น ออกเป็นช่อแยกแขนงตามง่ามใบและปลายกิ่ง ยาว ๐.๓-๑ ม. มีขนอ่อนนุ่ม ดอกเล็ก สีแดงดอกเพศผู้ยาวประมาณ ๓ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยก ๓ แฉก ยาวประมาณ ๑ มม. กลีบดอก ๓ กลีบ เกสรเพศผู้ ๖ อัน ติดที่จานฐานดอกรูปถ้วย หนา เกสรเพศเมียเป็นหมัน ดอกเพศเมียยาว ๕.๖ มม. กลีบเลี้ยงยาว


ประมาณ ๒ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียกลม

 ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็งที่เจริญเป็นเมล็ดเพียงช่องเดียว รูปรีเบี้ยว กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๒-๒.๕ ซม. เปลือกผลแห้งเหี่ยวย่น เมล็ดรูปกลมรี เปราะบาง

 กอกแดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้พบที่จังหวัดนราธิวาส ขึ้นตามสันเขาในป่าดิบชื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๓๐๐ ม. ออกดอกประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ผลแก่ในเดือนกรกฎาคม ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมาเลเซีย ใบมีขนาดใหญ่ใช้มุงหลังคา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กอกแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dacryodes kingii (Engl.) Kalkman
ชื่อสกุล
Dacryodes
คำระบุชนิด
kingii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Engler, Heinrich Gustav Adolf
- Kalkman, Cornelis
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Engler, Heinrich Gustav Adolf (1844-1930)
- Kalkman, Cornelis (1928-)
ชื่ออื่น ๆ
กือลอแซ (มลายู-นราธิวาส)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ราชันย์ ภู่มา