กอกเขาเป็นไม้ต้น สูง ๑๐-๓๐ ม. ลำต้นตรง โคนอาจมีพอน เปลือกมีช่องอากาศชัดเจน
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ก้านใบยาว ๕-๑๐ ซม. มีใบย่อย ๓-๖ คู่ รูปไข่ถึงรูปขอบขนาน กว้าง ๒.๕-๕ ซม. ยาว ๕-๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนเบี้ยวและสอบหรือค่อนข้างมน แผ่นใบบาง แข็ง เกลี้ยงหรือมีขนทางด้านล่าง เส้นกลางใบนูนเด่นชัดทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๒ เส้น ปลายโค้งจรดกันใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อย แบบร่างแหกึ่งขั้นบันได ใบแห้งสีน้ำตาลแดง ก้านใบย่อยยาว ๑-๒ ซม.
ดอกแยกเพศต่างต้น ออกเป็นช่อแยกแขนงตามง่ามใบหรือค่อนไปทางปลายกิ่ง ยาว ๕-๒๐ ซม. ช่อดอกย่อยยาว ๒-๔ ซม. มีขนสั้นหนานุ่มสีน้ำตาลแดงหรือเกือบเกลี้ยง ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียคล้ายกัน สีเขียวอ่อนเกือบขาว กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. มีขนสั้นหนานุ่มสีน้ำตาลแดง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยม ๓ แฉก ยาว ๑-๒ มม. กลีบดอก ๓ กลีบ กลีบดอกเพศเมียยาวกว่าเล็กน้อย มีขนสั้นหนานุ่มทางด้านนอก ด้านในมีขนยาวยกเว้นที่โคนกลีบ เกสรเพศผู้ ๖ อัน ติดที่จานฐานดอก จานฐานดอกของดอกเพศผู้หนา ส่วนของดอกเพศเมียรูปถ้วย หยักเป็นคลื่น ๖ หยัก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบมี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียกลม
ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็งที่เจริญเป็นเมล็ดเพียงช่องเดียว รูปไข่ถึงรูปขอบขนาน เบี้ยวเล็กน้อย กว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๒-๓.๕ ซม. เปลือกผลค่อนข้างเกลี้ยง เมล็ดรูปกลมรีเปราะบาง
กอกเขามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบชื้นใกล้น้ำ ออกดอกประมาณเดือนมกราคมถึงเมษายน ผลแก่เดือนมีนาคมถึงกันยายน ในต่างประเทศพบที่เวียดนามและแถบภูมิภาคมาเลเซีย
เนื้อไม้ใช้ทำพื้นกระดาน น้ำมันหรือชัน ใช้ทำขี้ได้ คบไฟในมาเลเซียและบรูไนกินผล.