เข็มม่วง

Ascocentrum ampullaceum (Roxb.) Schltr.

ชื่ออื่น ๆ
เขาแกะ, เข็มแดง, เอื้องเข็มม่วง, เอื้องเขาแกะใหญ่ (กรุงเทพฯ); เอื้องขี้ครั่ง, เอื้องครั่งฝอย (แม่ฮ่อ
กล้วยไม้อิงอาศัย เจริญเติบโตทางยอด ใบเรียงสลับระนาบเดียว รูปขอบขนาน ปลายใบตัดและมีจักแหลมไม่เท่ากันหลายจัก ช่อดอกแบบช่อกระจะ ดอกสีชมพูเข้มหรือชมพูอมม่วง ผลแบบผลแห้งแตก แตกตามรอยประสาน มีเมล็ดจำนวนมาก

เข็มม่วงเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญเติบโตทางยอด เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นประมาณ ๑.๓ ซม. เมื่อเจริญเต็มที่สูง ๗.๕-๑๒.๕ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียวและซ้อนชิดกัน มีข้างละ ๔-๕ ใบ สีเขียวเข้ม กว้าง ๑.๒-๒ ซม. ยาว ๗-๑๕ ซม. ปลายใบตัดและมีจักแหลมไม่เท่ากันหลายจัก ขอบมักมีจุดสีม่วงจำนวนมาก

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบใกล้โคนต้น รูปทรงกระบอก กว้างประมาณ ๕ ซม. ยาว ๙-๑๕ ซม. ช่อหนึ่งมี ๓๐-๔๐ ดอก เรียงเวียนรอบแกนช่อ เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๑.๗-๒ ซม. ก้านดอกและรังไข่ยาวประมาณ ๑ ซม. สีม่วง ดอกสีชมพูเข้มหรือชมพูอมม่วง กลีบกว้าง กลางกลีบเป็นสันทางด้านนอก ปลายแหลม งุ้มมาข้างหน้าเล็กน้อย กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ ลักษณะคล้ายกัน กว้างประมาณ ๖ มม. ยาวประมาณ ๑.๓ ซม. กลีบดอก ๓ กลีบ กลีบคู่ข้างกว้างประมาณ ๖ มม. ยาวประมาณ ๑.๒ ซม. แผ่นกลีบปากแคบ ยาวประมาณ ๑ ซม. ต่อกับฐานของเส้าเกสรเป็นเดือยแบน ปลายมน ยื่นไปด้านหลังโค้งงอ ยาวกว่ากลีบปากเล็กน้อย โคนปากและหูปากสีขาว กลางแผ่นปากเว้าและหักลงข้างล่าง ปลายมน สีม่วง เส้าเกสรเล็ก มีจะงอย กลุ่มเรณูกลม มี ๒ กลุ่ม ติดบนเส้าเกสร มีฝาปิดสีม่วง รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง และมีออวุลมาก

 ผลแบบผลแห้งแตกตามรอยประสาน รูปกระสวย ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. ผิวเป็นสันตามยาว ก้านผลยาวประมาณ ๑.๒ ซม. มีเมล็ดจำนวนมาก

 เข็มม่วงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นตามชายป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๓๐๐-๖๐๐ ม. ออกดอกระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่จีน อินเดีย (รัฐสิกขิม) ภูฏาน พม่า และลาว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เข็มม่วง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ascocentrum ampullaceum (Roxb.) Schltr.
ชื่อสกุล
Ascocentrum
คำระบุชนิด
ampullaceum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
- Schlechter, Friedrich Richard Rudolf
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William (1751-1815)
- Schlechter, Friedrich Richard Rudolf (1872-1925)
ชื่ออื่น ๆ
เขาแกะ, เข็มแดง, เอื้องเข็มม่วง, เอื้องเขาแกะใหญ่ (กรุงเทพฯ); เอื้องขี้ครั่ง, เอื้องครั่งฝอย (แม่ฮ่อ
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ.จิรายุพิน จันทรประสงค์