ตองแห้งอนันต์เป็นไม้ล้มลุก สูงได้ถึง ๓๐ ซม.ลำต้นตั้งตรง กิ่งและลำต้นเป็นสันสี่เหลี่ยม เกลี้ยงหรือมีขน
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ รูปขอบขนาน รูปรี หรือรูปใบหอก กว้าง ๐.๕-๑.๕ ซม. ยาว ๑.๕- ๔.๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนมน รูปลิ่ม หรือสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างบาง ใบใกล้ยอดลดขนาดลงคล้ายใบประดับ ผิวด้านบนมีขนหยาบแข็งประปราย ด้านล่างเกลี้ยงหรือมีขนหยาบแข็งประปรายที่เส้นใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๕ เส้น ก้านใบยาว ๑-๕ มม. หรือไร้ก้าน หูใบระหว่างก้านใบปลายตัด ขอบเป็นแฉกคล้ายหวีมี ๑ หรือ ๓-๗ แฉก มีขน
ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อน ออกที่ยอด ก้านดอกยาวได้ถึง ๖ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๔ แฉก รูปสามเหลี่ยม กว้าง ๐.๘-๑ มม. ยาว ๐.๖-๑ มม. ปลายแหลม มีขน กลีบดอกสีขาว สีชมพูอ่อน หรือสีขาวแกมสีม่วง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๑.๕-๒ มม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก รูปสามเหลี่ยม กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. ปลายแหลม เกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ก้านชูอับเรณูเรียว ยาว ๐.๑-๐.๒ มม. อับเรณูรูปขอบขนาน ยาว ๐.๔-๐.๕ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวเล็ก ยาว ๑.๒-๑.๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ยาว ๐.๔-๐.๕ มม.
ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปคล้ายถ้วย กว้าง ๓-๓.๕ มม. ยาว ๑.๘-๒ มม. มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดขนาดเล็ก มี ๑๐-๑๖ เมล็ดต่อช่อง เมล็ดเว้าด้านขั้ว โค้งนูนด้านตรงข้าม หรือรูปเรือ
ตองแห้งอนันต์มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามป่าโปร่ง ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑,๑๐๐-๑,๗๐๐ ม. ออกดอกเดือนกันยายนถึงตุลาคม เป็นผลเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล เมียนมา และเวียดนาม.
ชื่อพรรณไม้ชนิดนี้ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่นายอนันต์ ณ ลำพูน อดีตข้าราชการกรมป่าไม้