ครามเครือ

Indigofera hendecaphylla Jacq.

ไม้ล้มลุกมีเหง้าหรือไม้พู่ม ใบประกอบแบบ ขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อย ๓-๑๐ ใบ เรียงเวียนรูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ดอกรูปดอกถั่ว สีชมพูถึงสีแดง ผลแบบผลแห้งแตกลองแนว รูปแถบ เมล็ดเล็ก สีนํ้าตาล

ครามเครือเป็นไม้ล้มลุกมีเหง้าหรือเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นสั้น กิ่งเลื้อยไปตามพื้นดิน ตามข้อมีราก กิ่งอ่อน ใบ และช่อดอกมีขนสั้นรูปตัวที (T) ปลายทั้ง ๒ ข้างของขนขนาดใกล้เคียงกัน

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียนยาว ๑-๔ ซม. ก้านใบยาว ๐.๗-๓.๕ ซม. หูใบรูปสามเหลี่ยมปลายเรียวแหลม ยาวประมาณ ๕-๖ มม. ใบย่อย ๓-๑๐ ใบ เรียงเวียน รูปไข่กลับ กว้าง ๒-๙ มม. ยาว ๐.๕-๒ ซม. ปลายมน โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยงหรือมีขนรูปตัวทีประปราย ด้านล่างมีขนสั้นรูปตัวที เส้นแขนงใบเห็นไม่ชัด ก้านใบย่อยสั้นมาก หูใบย่อยเล็กมาก

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ยาว ๒-๕ ซม. ใบประดับรูปไข่ ยาวประมาณ ๒ มม. ดอกรูป ดอกถั่ว ยาว ๔-๕ มม. ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๓ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ขนาดใกล้เคียงกัน มีขนสั้น กลีบดอก ๕ กลีบ สีชมพูถึงสีแดง กลีบกลางรูปไข่ กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. กลีบคู่ข้างสีแดง อยู่ชิดกับกลีบคู่ล่าง มักอยู่ในแนวนอน กลีบคู่ล่างติดกันเป็นรูปท้องเรือเกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร เชื่อมติด ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกมี ๙ เกสร โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกัน อีก ๑ เกสร แยกเป็นอิสระรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปเรียวเล็ก มีขนประปราย มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียโค้ง ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปแถบ เรียวตรง ยาว ๒-๓.๕ ซม. เมื่อแก่แตกตามรอยประสานเป็น ๒ ซีก เมล็ดเล็ก สีนํ้าตาล มี ๗-๙ เมล็ด

 ครามเครือมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบขึ้นทั่วไปตามทุ่งหญ้าและข้างถนนที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับนํ้าทะเลถึงประมาณ ๒,๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคมในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเชีย และทวีปแอฟริกา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ครามเครือ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Indigofera hendecaphylla Jacq.
ชื่อสกุล
Indigofera
คำระบุชนิด
hendecaphylla
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Jacquin, Nicolaus (Nicolaas) Joseph von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1727-1817)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม