ข่าคาคบเป็นไม้ล้มลุกหลายปี เหง้าสั้นมาก รากออกเป็นกระจุก หนาและมีเนื้อ ลำต้นเทียมเรียวยาว เกิดจากกาบใบเรียงสลับซ้อนกันแน่นชูเหนือดิน สูง ๒๕-๘๐ ซม. โคนต้นมีกาบใบที่ไม่มีแผ่นใบ
ใบเดี่ยว เรียงเวียน มี ๔-๖ ใบ รูปใบหอกหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๖ ซม. ยาว ๖-๑๘ ซม. ปลายเรียวแหลมถึงยาวคล้ายหาง โคนสอบเรียวหรือมนเกลี้ยง บริเวณใกล้แกนสีเขียว บริเวณไกลแกนมักมีสีม่วงหรือสีเขียว กาบใบสีขาวแกมเขียว หรืออาจมีจุดสีม่วงแดงลิ้นใบบางคล้ายเยื่อ ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายมน
ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลด ออกที่ปลายลำต้นเทียมแกนช่อดอกสีแดง คดไปมาเล็กน้อย ใบประดับไม่เชื่อมติดกัน มี ๒-๑๐ ใบ สีเขียว รูปใบหอก สั้นกว่ากลีบเลี้ยงติดทน แต่ละใบมีดอกสีเหลืองเข้ม ๑ ดอก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๑.๕-๒ ซม. แยกลึกข้างเดียวปลายหยักซี่ฟันเล็กมาก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวกว่ากลีบเลี้ยงเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๓ แฉก รูปใบหอก ยาว ๑.๕-๒ ซม. เกสรเพศผู้เป็นหมันคล้ายกลีบดอก ๓ กลีบ กลีบข้างตั้ง มี ๒ กลีบ สีเหมือนกลีบดอก กลีบปากสีเหลือง รูปไข่กลับ ยาวเท่าแฉกกลีบดอกปลายเว้าลึกเป็น ๒ หยัก ก้านชูอับเรณูโค้ง สีเหลืองยาวประมาณ ๒ ซม. อับเรณูมีรยางค์เป็นง่ามที่โคน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงกลม เรียบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาวเป็นรูปแถบ ยอดเกสรเพศเมียรูปลูกข่าง ขอบมีขน
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๘ มม. แตกง่าย เมื่อแตกจะโค้งพับลง ภายในสีแดง เมล็ดสีดำ ไม่มีเยื่อหุ้มเมล็ด
ข่าคาคบมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเลประมาณ ๑,๙๐๐ ม. ขึ้นไป ออกดอกเดือนสิงหาคมถึงกันยายน เป็นผลเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่อินเดียตอนเหนือ เนปาล ภูฏาน เมียนมา ลาว และเวียดนาม.