แคยอดดำเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูงได้ถึง ๔๐ ม. ลำต้นเปลาตรง โคนต้นมีพูพอนเล็กน้อย กิ่งอ่อนและยอดมีต่อมเหนียวหนาแน่น เปลือกค่อนข้างเรียบสีน้ำตาลแดง
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ยาว ๒๐-๔๕ ซม. ใบย่อย ๕-๙ใบ เรียงตรงข้ามรูปใบหอก รูปใบหอกแกมรูปไข่ หรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒.๕-๖ ซม. ยาว ๖-๑๔ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมน ขอบเรียบ แผ่นใบมีขนสีนํ้าตาลอมเหลืองหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน แต่จะร่วงไปบ้างเหลือประปรายหรือเกือบเกลี้ยงตามด้านบนของใบแก่ ก้านใบย่อยยาว ๕-๘ มม.
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๑๐-๓๐ ซม. มีขนหนาแน่น ดอกจำนวนมาก บานกลางคืนกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ยาว ๐.๙-๑.๗ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกสั้น ๕ แฉก มีขนหนาแน่นกลีบ ดอกยาว ๔-๖ ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปแตร ด้านนอกสีชมพูหรือสีชมพูอมม่วงอ่อน มีขนบาง ๆ กลีบบน ๓ กลีบ กลีบล่าง ๒ กลีบ ขอบกลีบรุ่ยเป็นริ้วยาวไม่เป็นระเบียบ เกสรเพศผู้ ๒ คู่ แต่ละคู่ยาวไม่เท่ากัน ติดอยู่ในหลอดดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาวยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ พู
ผลแบบผลแห้งแตก เป็นฝักรูปทรงกระบอกแคบ ยาว ๔๐-๖๐ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๘-๑.๑ ซม. ฝักแก่แตกเป็น ๒ ซีก แต่ละซีกผนังบาง มีสันยาวตรงกลางผนังบิดงอไปมาเมื่อฝักแตกออกจากกัน เมล็ดแบนมีครีบตรงกลาง ด้านข้างมีปีกยาวเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แผ่นปีกบาง โปร่งแสง กว้าง ๗-๙ มม. ยาว ๑.๘-๒.๓ ซม.
แคยอดดำมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบขึ้นตามชายป่าดิบลุ่มตํ่า และบริเวณใกล้ลำธาร ป่าเบญจพรรณชื้น และป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๕๐-๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนธันวาคมถึงเมษายน เป็นผลเดือนมกราคมถึงมิถุนายน ในต่างประเทศพบที่พม่า ลาว และมาเลเซีย.