แคฝอยเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูงได้ถึง ๑๐-๒๕ ม. เรือนยอดโปร่ง เปลือกเรียบ สีเทา อาจแตกเป็นสะเก็ดบาง สีคล้ำ
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ยาว ๒๐-๕๐ ซม.ใบย่อย ๕-๙ ใบ เรียงตรงข้ามรูปรีหรือรูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง ๓-๘ ซม. ยาว ๖-๒๒ ซม. ปลายแหลมทู่ โคนแหลม ขอบเรียบ แผ่นใบค้านบนมีขนห่าง ๆ หรือเกือบเกลี้ยง ด้านล่างมีขนละเอียดนุ่มทั่วไป มีต่อมกลมแบนสีคล้ำประปรายใกล้เส้นกลางใบ ก้านใบย่อยยาว ๐.๔-๑.๘ ซม.
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงสั้น ตั้งตรง ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๑๘-๒๕ ซม. มีขนละเอียด ดอกบาน กลางคืน กลิ่นหอม ใบประดับใหญ่และใบประดับย่อยรูปใบหอกถึงรูปแถบ เห็นชัดเจน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๑.๗-๒.๒ ซม. มีขนทั่วไป มีสันตามยาวหลายสัน ปลายหลอดแยกเป็น ๓ แฉก กลีบดอกสีขาว โคนเชื่อมติดกันคล้ายรูปแตร ยาว ๖-๘ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน แผ่นกลีบย่น เกสรเพศผู้ ๒ คู่ แต่ละคู่ยาวไม่เท่ากัน โคนก้านชูอับเรณูเกลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ พู โผล่พ้นปากหลอดดอก
ผลแบบผลแห้งแตก เป็นฝักรูปทรงกระบอกแคบ ยาว ๓๐-๔๕ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๗ มม. ผนังบางสีเทา มีสันตามยาวปรากฏราง ๆ ตรงกลาง ฝักแก่แตกเป็น ๒ ซีก ทำให้ผนังบิดเวียนไม่เป็นระเบียบ เมล็ดแบนมีครีบตรงกลางและมีปีกยาวด้านข้าง ปลายปีกบางโปร่งแสง กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๒ ซม.
แคฝอยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคยกเว้นภาคใต้ พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังและป่าหญ้า ที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๑๐๐-๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนมิถุนายนถึงมกราคม ในต่างประเทศพบที่กัมพูชาและเวียดนาม.