เตยวรดลต์เป็นไม้พุ่ม ลำต้นสั้นหรือสูงได้ถึง ๑ ม.
ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็น ๓-๔ แถว รูปแถบ กว้าง ๒.๕-๓.๒ ซม. ยาว ๑-๑.๒ ม. ปลายค่อย ๆ เรียวแหลมไปจนถึงปลาย ปลายสุดเรียวเป็นเส้น โคนตัดเชื่อมติดกับลำต้น ขอบใบใกล้โคนมีหนาม ยาว ๒-๒.๕ มม. โค้งขึ้น แต่ละหนามห่างกัน ๐.๙-๑.๕ ซม. บริเวณช่วงกลางแผ่นใบมีหนามขนาดเล็กและห่างกันมากกว่าบริเวณใกล้โคน ช่วงปลายใบมีหนามยาวประมาณ ๑ มม. แต่ละหนามห่างกัน ๐.๔-๑ ซม. แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นกลางใบด้านล่างบริเวณใกล้โคน
ดอกแยกเพศต่างต้น ไร้วงกลีบรวม ออกที่ปลายยอด ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลดมีกาบเชิงประกอบ ดอกเพศผู้จำนวนมาก แต่ละดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก เกสรเพศผู้โคนเชื่อมติดกัน ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่น ออกเดี่ยว ดอกเพศเมียมีจำนวนมาก เชื่อมกันเป็นกลุ่ม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบมี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียซึ่งแยกเป็น ๒ แฉกมีลักษณะแข็งคล้ายเขา
ผลแบบผลรวม รูปทรงค่อนข้างกลมถึงทรงรูปไข่กลับ กว้าง ๖-๗ ซม. ยาว ๖-๘ ซม. ก้านช่อผลยาว ๕๐-๖๕ ซม. ค่อนข้างเรียวเล็ก ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็ง มี ๒๐๐-๒๘๐ ผล รูปทรงกระบอกแกมทรงรูปไข่กลับ กว้าง ๗-๙ มม. ยาว ๒-๒.๕ ซม. มี ๖ เหลี่ยม แบนข้างเห็นชัด ปลายผลคล้ายรูปพีระมิด ๖ เหลี่ยม ผนังผลชั้นกลางส่วนบนเป็นเส้นใยและมีเนื้อ ผนังผลชั้นในแข็ง มีก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียติดทน ลักษณะคล้ายเขา สีน้ำตาล เป็นมันวาว ยาว ๕-๖ มม. ปลายแยกเป็น ๒ แฉก เรียวแหลม เมล็ดรูปทรงรี กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๗-๘ มม. มี ๑ เมล็ด [ช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมียยังไม่พบ ข้อมูลช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมียอ้างอิงมาจากลักษณะประจำสกุล Pandanus (Sun & DeFilipps, 2010)]
เตยวรดลต์เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบขึ้นบนดินทรายริมลำธารในป่าดิบแล้ง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี
ประโยชน์ ใบใช้ทำเครื่องจักสาน.