ขุนไม้เป็นไม้ต้นประเภทพืชเมล็ดเปลือย สูงได้ถึง ๒๐ ม. ลำต้นเปลา เปลือกอ่อนเรียบ เปลือกแก่ล่อนเป็นแผ่นบาง ๆ เปลือกนอกสีน้ำตาล เปลือกในสีชมพูคล้ำ เรือนยอดรูปกรวยคว่ำ กิ่งมักแผ่ตั้งฉากหรือเกือบตั้งฉากกับลำต้น
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๓-๕ ซม. ยาว ๑๐-๑๘ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนหรือสอบเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างหนา เส้นแขนงใบเรียงชิดและขนานกันจากโคนไปหาปลายใบ ไม่มีเส้นกลางใบ ก้านใบสั้นมาก สตรอบิลัส แยกเพศอยู่ต่างต้น สตรอบิลัสเพศผู้สีเหลือง ออกรวมกันเป็นช่อเล็ก ๆ ตามง่ามใบ ยาวไม่เกิน ๑.๕ ซม. กระจุกละ ๓-๗ ช่อ แต่ละช่อประกอบด้วยเกล็ดเล็ก ๆ คล้ายโล่รองรับ สตรอบิลัสเพศเมียสีเขียว มีนวล มักออกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกตามง่ามใบ มีเกล็ดคลุมออวุลเพียงอันเดียว ที่โคนก้านมีเกล็ดอีก ๕-๙ อัน เมล็ดกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ ซม. ระยะแรกสีเขียว เมื่อแก่สีน้ำเงินหรือสีม่วง ก้านเมล็ดยาว ๒-๔ ซม. ส่วนที่ติดกับตัวเมล็ดอวบนุ่ม สีเขียว โคนก้านเรียว มีเกล็ด
ขุนไม้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ มีปริมาณค่อนข้างน้อย จัดอยู่ในกลุ่มพรรณไม้ที่หายาก พบขึ้นกระจายห่าง ๆ ตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๒,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย.