กวาวเครือเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย ผลัดใบ ลำต้นยาวถึง ๕ ม. มีหัวใต้ดินขนาดใหญ่ ค่อนข้างกลม และคอดยาวเป็นเปลาะ ๆ ต่อเนื่องกัน ส่วนที่กลมมีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง ๒๐ ซม. ส่วนที่คอดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ ซม. กิ่งอ่อน ยอดอ่อน ก้านช่อดอก และกลีบเลี้ยงมีขนสั้น ๆ
ใบประกอบแบบขนนกมีสามใบย่อย เรียงสลับ ก้านใบประกอบยาว ๑๐-๒๘ ซม. หูใบรูปไข่ โคนมนหรือเป็นติ่งยื่นลงมาทางด้านล่าง กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๐.๕-๑ ซม. ใบย่อยด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้น ๆ ประปราย ใบย่อยใบกลางรูปไข่ กว้าง ๙-๑๕ ซม. ยาว ๑๕-๓๐ ซม. ปลายมนถึงเรียวแหลม โคนสอบถึงมน เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น คู่แรกออกจากโคนใบ ใบย่อยคู่ข้างขนาดใกล้เคียงกับใบกลางปลายมนถึงเรียวแหลม โคนเบี้ยว ก้านใบย่อยยาว ๕-๗ มม. หูใบย่อยเรียวแคบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๕ มม.
ช่อดอกเป็นช่อเดี่ยวและช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๒๐-๓๐ ซม. ดอกรูปดอกถั่ว สีม่วงอมน้ำเงิน ออกเป็น กระจุกในระยะผลัดใบ กระจุกละ ๓-๕ ดอก ก้านดอกยาว ๑-๕ มม. ใบประดับมีลักษณะเป็นเกล็ด ขนาดเล็กมาก ใบประดับย่อยเล็ก รูปไข่ ติดที่ปลายก้านดอก กลีบเลี้ยงยาว ๖-๗ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แฉกบนสุดใหญ่กว่าแฉกอื่น กลีบดอก ๕ กลีบ กลีบกลางค่อนข้างกลม ก้านสั้น เส้นผ่านศูนย์กลาง ๗-๘ มม. กลีบคู่ล่างติดกันเป็นรูปเรือ เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูติดกันรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลหลายเม็ด
ฝักแบน รูปขอบขนาน ผิวมีขนสั้น ๆ ประปรายถึงเกลี้ยง กว้างประมาณ ๗ มม. ยาวประมาณ ๓ ซม. มี ๓-๔ เมล็ด ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ มม.
กวาวเครือเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่และลำปาง ขึ้นในป่าเบญจพรรณที่สูง จากระดับน้ำทะเล ๒๕๐-๘๐๐ ม.
หัวกวาวเครือใช้เป็นยาอายุวัฒนะ โดยใช้ผงหัวกวาวเครือผสมกับน้ำผึ้งกินเป็นยาบำรุง บำบัดโรคได้หลายโรค และทำให้อายุยืน (Nilanidhi et al, 1957) สารเคมีที่พบในหัวกวาวเครือคือ miroestrol (Jones and Pope, 1961; Kashemsanta et al, 1957) puerarin และ mirificin (Nilanidhi et al, 1957) ซึ่งได้ทำการทดลองในหนู พบว่ามีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนเพศหญิง.