เตยย่านน้อย

Freycinetia angustifolia Blume

ชื่ออื่น ๆ
สะลีซิงกายู (มลายู-นราธิวาส)
ไม้เถาเนื้อแข็งหรือไม้พุ่มรอเลื้อย ลำต้นเรียว แตกกิ่งมาก มีรากอากาศ โคนต้นมีรากค้ำ ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็น ๓ แถว รูปแถบ ดอกแยกเพศต่างต้น ไร้วงกลีบรวม ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบเชิงประกอบคล้ายช่อกระจะหรือช่อซี่ร่มเทียม ออกที่ปลายกิ่ง กาบช่อดอกรูปเรือสีเหลืองสดถึงสีเหลืองอมส้ม ดอกเล็กมาก สีขาวถึงสีเหลืองนวล มีกลิ่นหอม ผลแบบผลรวม รูปทรงกระบอก ผลย่อยแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ดจำนวนมาก ผลย่อยส่วนบนแข็ง ส่วนล่างมีเนื้อนุ่ม สีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีแดง ผนังผลบางเป็นเยื่อ เมล็ดมีจำนวนมาก

เตยย่านน้อยเป็นไม้เถาเนื้อแข็งหรือไม้พุ่มรอเลื้อย ลำต้นเรียว ยาว ๕-๑๐ ม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕-๑ ซม. แตกกิ่งมาก มีรากอากาศ โคนต้นมีรากค้ำ

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็น ๓ แถว รูปแถบ กว้าง ๐.๕-๑ ซม. ยาว ๒๐-๔๐ ซม. ปลายเรียวแหลมยาว มีหนามเล็กน้อยบริเวณใกล้ปลายใบและตามเส้นกลางใบด้านล่าง ใบที่โคนมีหนาม โคนแผ่เป็นกาบสั้นโอบไม่รอบลำต้น ขอบเรียบ กาบมีติ่งใบบางคล้ายเยื่อ ๒ ติ่ง จักเป็นครุยหรือเป็นเส้นใยละเอียด แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีอ่อนกว่าและมักมีนวล เส้นใบมีจำนวนมาก เรียงขนานถี่จากโคนสู่ปลาย

 ดอกแยกเพศต่างต้น ไร้วงกลีบรวม ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบเชิงประกอบคล้ายช่อกระจะหรือช่อซี่ร่มเทียม ออกที่ปลายกิ่ง กาบช่อดอกวงนอกสุดขนาดใหญ่ รูปเรือ สีเหลืองหรือสีเขียวอมเหลือง ปลายสีเขียว เรียวแหลมยาว ปลายสุดเป็นหนาม กาบช่อดอกรูปเรือสีเหลืองสดถึงสีเหลืองอมส้ม


กว้าง ๑-๒.๕ ซม. ยาว ๔-๘ ซม. กาบช่อดอกเพศผู้มักร่วงหลังดอกบาน ส่วนในช่อดอกเพศเมียมักติดทนจนเป็นผล ดอกเล็กมาก สีขาวถึงสีเหลืองนวล มีกลิ่นหอม ช่อดอกเพศผู้ประกอบด้วยช่อเชิงลดมีกาบ รูปทรงกระบอก มีประมาณ ๔ ช่อ แต่ละช่อดอกกว้างประมาณ ๑.๓ ซม. ยาว ๑-๓ ซม. ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก เรียงอัดกันแน่นบนแกน ก้านชูอับเรณูมีปุ่มเล็ก ช่อดอกเพศเมียประกอบด้วยช่อเชิงลดมีกาบ รูปทรงกระบอก มี ๓-๔ ช่อ แต่ละช่อดอกยาวประมาณ ๑.๓ ซม. ดอกเพศเมียเรียงอัดกันแน่นบนแกน ดอกเพศเมียมักมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันขนาดเล็ก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ไร้ก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ ยอด

 ผลแบบผลรวม รูปทรงกระบอก กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๔-๕ ซม. ผลย่อยแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ดจำนวนมาก ผลย่อยส่วนบนแข็ง ส่วนล่างมีเนื้อนุ่ม สีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีแดง ผนังผลบางเป็นเยื่อ เมล็ดมีจำนวนมาก

 เตยย่านน้อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นในป่าดิบ ตามบึงน้ำจืด และป่าพรุ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เตยย่านน้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Freycinetia angustifolia Blume
ชื่อสกุล
Freycinetia
คำระบุชนิด
angustifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1796-1862)
ชื่ออื่น ๆ
สะลีซิงกายู (มลายู-นราธิวาส)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางปริญญนุช กลิ่นรัตน์