ชิงเห่าเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว สูง ๐.๓-๒ ม. ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านมาก ลำต้นและกิ่งรูปทรงกระบอกเป็นร่องตามยาว สีเขียวอ่อน มีขนละเอียดประปรายหรือไม่มี กิ่งแก่เกลี้ยง ทุกส่วนมีกลิ่นหอม
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนาน รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม มีต่อมโปร่งแสง มีขน ๒ แบบ เป็นขนหลายเซลล์เส้นเดียวเรียง ๒ แถว และขนหลายเซลล์รูปตัวที (T) ใบที่โคนต้นมีขนาดใหญ่กว่าและมีก้านใบยาวกว่าใบที่อยู่ด้านบนขึ้นไปตามลำดับ ใบหยักลึกแบบขนนก ๑-๔ ครั้ง เป็นแฉกรูปใบหอกแคบหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ใบที่โคนต้นกว้าง ๒-๑๐ ซม. ยาว ๓-๑๕ ซม. ขอบหยักลึกแบบขนนก ๓ หรือ ๔ ครั้ง เป็น ๕-๑๐ คู่ ใบบริเวณกลางต้นยาว ๐.๘-๓ ซม. ขอบใบหยักลึกแบบขนนก ๒ หรือ ๓ ครั้ง เป็นแฉกรูปแถบ รูปเส้นด้าย หรือรูปคล้ายกระบองแกมรูปเส้นด้าย ขอบจักลึกแบบฟันเลื่อยถึงจักซี่หวี แต่ละจักรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาว ๑-๒ มม. เส้นใบด้านบนนูนเล็กน้อยแกนกลางใบมีปีกแคบ แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นนุ่มหรือขนคล้ายใยแมงมุม ก้านใบยาว ๑-๒ ซม. ใบที่อยู่ส่วนบนสุดแยกลึกแบบขนนก ๑ หรือ ๒ ครั้ง ไม่มีก้านใบ
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง โปร่ง ออกที่ปลายยอดหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง รูปกรวย กว้างประมาณ ๘ ซม. ยาวประมาณ ๑๕ ซม. ช่อแขนงแบบช่อกระจะช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น รูประฆังหรือค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ มม. ก้านช่อดอกสั้น
ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปทรงกระบอกหรือทรงรูปไข่แกมรูปทรงรี ยาว ๐.๖-๑ มม. สีน้ำตาลอมเหลือง ผิวเป็นมัน มีร่องตามยาว มี ๑ เมล็ดสีน้ำตาล รูปคล้ายผล ไม่มีแพปพัส
ชิงเห่าเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีเขตการกระจายพันธุ์ในอเมริกาเหนือ ยุโรป ทางเหนือของแอฟริกา และในเอเชียเขตร้อน พบทั่วไปในประเทศจีน มักขึ้นตามเนินเขา ตามชายป่า และที่รกร้าง ที่สูงจากระดับทะเล ๒๐๐-๓,๖๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายนนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยทางภาคเหนือ
ประโยชน์ ลำต้น กิ่ง และใบมีน้ำมันหอมระเหยสารกลุ่มเฟลโวนอยด์และสารกลุ่มเซสควิเทอร์พีนแล็กโทนหลายชนิด ที่สำคัญ คือ อาร์เทมิซินิน ซึ่งเรียกว่า ชิงเห่าซู่ นำมาใช้เป็นยาแผนปัจจุบันรักษาโรคมาลาเรียได้ผลดี.