แคผู้เป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลัดใบ สูง ๖-๑๕ ม. แตกกิ่งตํ่า เรือนยอดเป็นพุ่มกลม เปลือกค่อนข้างเรียบ สีเทา มีช่องอากาศขนาดใหญ่ทั่วไป กิ่งก้านคดงอ ยอดอ่อนมีขนแข็งรูปดาว ต่อมาขนจะร่วง
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเป็นวงรอบกิ่ง ๓-๔ ช่อ ยาว ๑๓-๓๐ ซม.ใบย่อย ๙-๑๕ ใบ เรียงตรงข้ามรูปใบหอกแกมรูปไข่หรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๗-๒.๘ ซม. ยาว ๓.๖-๗.๕ ซม. ปลายแหลมโคนมนและมักเบี้ยว ขอบจักมนหรือเป็นคลื่นเล็กน้อยถึงค่อนข้างเรียบ ใบอ่อนมีขนแข็งรูปดาวประปราย ใบแก่เกลี้ยง ด้านล่างมีต่อมกลมนูนสีดำตามแนวเส้นกลางใบตอนล่าง ก้านใบย่อยยาว ๒-๕ มม.
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงสั้น ๆ ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๑๖-๒๘ ซม. แขนงช่อดอกเรียงเป็นวงรอบแกนช่อ มีขนแข็งรูปดาวประปราย ต่อมาขนจะร่วงกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดคล้ายรูประฆังปลายแยกเป็น ๕ แฉก ด้านนอกมีขนแข็งรูปดาวประปราย ต่อมาขนจะร่วง ผิวมีต่อมกลมนูน กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ยาว ๐.๘-๑.๒ ซม. ส่วนบนผายออกเป็นรูประฆัง ยาว ๒.๓-๓.๓ ซม. ปลายแยกเป็นกลีบขนาดไม่เท่ากัน แยกเป็นกลีบบน ๓ กลีบ กลีบล่าง ๒ กลีบ ขอบกลีบย่นไม่เป็นระเบียบ หลอดดอกส่วนล่างสีชมพูอ่อน ส่วนบนและปลายกลีบสีชมพูถึงสีชมพูอมม่วงอ่อน เกสรเพศผู้ ๒ คู่ แต่ละคู่ยาวไม่เท่ากัน ติดอยู่ภายในหลอดดอก บริเวณโคนก้านชูอับเรณูมีขนยาวหนาแน่น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ปลายแยกเป็น ๒ แฉก
ผลแบบผลแห้งแตก เป็นฝักคล้ายรูปทรงกระบอกสั้น ๆ ด้านข้างแบน กว้าง ๒.๘-๓.๘ ซม. ยาว ๑๒-๑๖ ซม. โคนและปลายรี เมื่อแก่แตกเป็น ๒ ซีก มีต่อมกลมนูนทั่วไป แกนในฝักเป็นแผ่นแบนหนาคล้ายแผ่นคอร์ก กว้างประมาณ ๒.๑ ซม. มีสันตามยาวอยู่ตรงกลางทั้งด้านบนและด้านล่าง เมล็ดจำนวนมาก แบนมีปีกบางใสรูปครึ่งวงกลม กว้างประมาณ ๑.๓ ซม. ยาวประมาณ ๒.๘ ซม.
แคผู้เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง พบขึ้นตามซอกหินบนภูเขาหินปูนที่แห้งแล้งที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๒๐๐-๗๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม