ชิงชี่ใหญ่

Capparis klossii Ridl.

ไม้เถาเนื้อแข็ง กิ่งก้านใหญ่และแข็ง มีหนาม ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามยอดหรือตามซอกใบ ดอกสีขาว ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีหรือค่อนข้างกลม เมล็ดจำนวนมาก

ชิงชี่ใหญ่เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง กิ่งก้านใหญ่และแข็ง รูปทรงกระบอก มีขนสั้นนุ่ม หนามยาว ๓-๔ มม. โค้ง โคนกว้าง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี กว้าง ๘-๑๓ ซม. ยาว ๑๖.๕-๒๒.๕ ซม. ปลายแหลม โคนมนกลม แหลม หรือกึ่งรูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนังด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๗ เส้น ก้านใบยาว ๑.๕-๒.๕ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามยอดหรือตามซอกใบ ก้านดอกยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. มีขนสั้นนุ่ม กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ เรียงเป็น ๒ คู่ รูปค่อนข้างกลมหรือรูปรี กว้าง ๖-๗ มม. ยาว ๑.๑-๑.๓ ซม. หนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม กลีบคู่นอกรูปคล้ายเรือ กลีบคู่ในค่อนข้างแบน กลีบดอกสีขาว มี ๔ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมกัน กว้าง ๐.๕-๑ ซม. ยาว ๑.๕-๒ ซม. โคนกลีบคู่บนเชื่อมติดกัน ส่วนโคนกลีบคู่ล่างไม่ติดกันมีขนที่โคนกลีบ เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูคล้ายเส้นด้าย อับเรณูติดด้านหลัง มี ๒ ช่อง แตกตามยาว หันเข้าหาแกนดอก ก้านชูเกสรเพศเมียยาว ๓.๕-๕.๕ ซม. แข็งและเกลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบรูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ มม. มี ๑ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมากหรือไม่มี ยอดเกสรเพศเมียแหลมและสั้น

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีหรือค่อนข้างกลม กว้าง ๒.๕-๕ ซม. ยาว ๓-๗ ซม. ผนังผลหนา ๘-๘.๕ มม. ก้านผลแข็ง กว้าง ๐.๖-๑ ซม. ยาว ๔.๕-๖ ซม. เมล็ดจำนวนมาก

 ชิงชี่ใหญ่เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบตามป่าละเมาะที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑๕๐ ม. ออกดอกประมาณเดือนมีนาคม เป็นผลประมาณเดือนธันวาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชิงชี่ใหญ่
ชื่อวิทยาศาสตร์
Capparis klossii Ridl.
ชื่อสกุล
Capparis
คำระบุชนิด
klossii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Ridley, Henry Nicholas
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1855-1956)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤ