จีปุกดอยชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๑.๕ ม. กิ่งรูปทรงกระบอก กิ่งอ่อนมักมีลายประสีดำ เมื่อแก่สีน้ำตาลแกมแดงและมีขนอุยยาวหนาแน่น
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกแกมรูปขอบขนานถึงรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๓-๒.๖ ซม. ยาว ๕.๕-๑๑.๕ ซม. ปลายเรียวแหลมถึงเรียวแหลมยาวคล้ายหางโคนรูปลิ่มถึงมน ขอบค่อนข้างเป็นคลื่นถึงหยักมน และมีต่อมอยู่ที่มุมหยักตามขอบใบ ด้านบนเกลี้ยงเป็นมันด้านล่างมีขนอุยยาวหนาแน่น มีต่อมสีดำจำนวนมากเส้นแขนงใบข้างละ ๑๒-๑๖ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกันใกล้ขอบใบและมีเส้นใบย่อยเชื่อมต่อถึงต่อมที่ขอบใบก้านใบยาว ๓-๕ มม. มีขนอุย
ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่มเชิงประกอบ มีช่อย่อยแบบช่อซี่ร่ม ออกตามปลายกิ่ง มีขนสั้นสีน้ำตาลแดงก้านช่อยาว ๐.๕-๑ ซม. ช่อย่อยยาว ๐.๘-๑.๒ ซม. แต่ละช่อมี ๒-๔ ดอก ก้านดอกยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ปลายก้านอวบหนากว่าโคนก้าน มีปุ่มเล็ก กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๓ มม. ติดทน โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อยปลายแยกเป็นแฉกเล็กมาก ๕ แฉก รูปไข่ กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ปลายแหลม ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนประปรายมีต่อมสีดำ กลีบดอกสีขาวหรือสีชมพู ยาว ๖-๘ มม. โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. ปลายแหลมตามผิวมีต่อมสีดำ เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่โคนหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูรูปไข่หรือรูปใบหอกยาวประมาณ ๕ มม. ปลายแหลม ด้านนอกมีต่อมโปร่งแสง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลตั้งแต่จำนวนน้อยถึงมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ๕-๖ มม. ยอดเกสรเพศเมียเล็กแหลม
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๗-๘ มม. ผิวมีต่อมสีดำอยู่ทั่วไป สุกสีแดงแกมชมพู มี ๑ เมล็ด รูปคล้ายผล
จีปุกดอยชนิดนี้เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ พบตามป่าดิบไหล่เขา ริมธารน้ำที่สูงจากระดับทะเล ๑,๐๐๐-๑,๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม.